วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรื่องของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา คำถามที่ถามบ่อย

คำถามที่ผู้คนมักจะค้นหาและถามกันบ่อยๆ


คำถามที่ 1 : ท่าเรือที่ใกล้ รพ.ยันฮี?

คำตอบ : ถ้านั่งเรือประจำทาง ก็จะมีท่าเรือวัดเทพากรแล้วค่อยต่อรถเมล์สาย 203(ต้องข้ามถนนจรัญฯไปอีกฝั่งนะจ๊ะ) หรือ ถ้าขึ้นเรือที่ท่าพระราม 7 ก็นั่งรถเมลสาย 110 ไปอีก(ขึ้นฝั่งเดียวกับท่าเรือ ไม่ต้องข้ามถนนนะจ๊ะ) ท่าพระราม 7 เรือที่จอดก็จะมีเรือประจำทาง, ธงส้ม,เขียว และ เหลือง




คำถามที่ 2 : ท่าเรือพิบูลสงคราม 3 อยู่ตรงไหน?

คำตอบ : ท่าพิบูลฯ 3 จริงๆแล้ว ก็คือ ท่าน้ำนนท์นี่เองนะจ๊ะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อท่าน้ำนนท์




คำถามที่ 3 : ท่าเรือสาทรไปท่าน้ำนนท์

คำตอบ : ถ้าจะเดินทางจากท่าสาทรไปท่าน้ำนนท์ฯ ก็สามารถลงเรือจากสาทร(ฝั่งเดียวกับรถไฟฟ้า) เรือธงสีอะไรก็ได้ จอดที่ท่าน้ำนนท์ทุกลำ จะสุดสายที่ท่าน้ำนนท์ ยกเว้นนั่งธงเขียว(จะแล่นไปต่ออีก ถึงปากเกร็ด) ถ้าต้องการความรวดเร็วก็นั่งธงเหลือง หรือเขียว แต่ถ้ากลางๆก็ธงส้ม แต่ถ้าไม่รีบ สบายๆ อยากชมวิว ริมน้ำสวยๆ ก็เรือประจำทาง




คำถามที่ 4 : ดูเส้นทางเรือด่วน หรือ แผนที่เรือด่วน

คำตอบ : อ่านบทความนี้นะจ๊ะ แผนที่ เส้นทางเดินเรือด่วนแห่งแม่้ำน้ำเจ้าพระยา






คำถามที่ 5 : เรือด่วนเจ้าพระยา ธงสีต่างๆ

คำตอบ : อ่านที่บทความนี้นะจ๊ะ และเดี๋ยวนี้มีธงแดงเพิ่มเข้ามา เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat และ บริการเรือด่วนแบบใหม่ เรือด่วนพิเศษธงแดง ของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา





คำถามที่ 6 : นั่งเรือจากสาทรไปศิริราช

คำตอบ : คล้ายๆกับคำถามที่ 3 "ท่าเรือสาทรไปท่าน้ำนนท์" และถ้าจะนั่งไปศิริราชนั้นสามารถนั่งได้ทุกธง เพราะทุกธงจอดที่ท่าเรือวังหลัง หรือศิริราช ไม่ต้องต่อรถ เดินนิดเดียวถึง รพ.ศิริราชเลยจ้า





คำถามที่ 7 : เวลาวิ่งของเรือด่วน

คำตอบ : อ่านที่บทความนี้นะจ๊ะ อยากรู้เรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่า  เวลาวิ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจ้า(ของเรือประจำทาง) ส่วนธงแดงอ่านตามนี้จ้า บริการเรือด่วนแบบใหม่ เรือด่วนพิเศษธงแดง ของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนธงอื่นๆ ลองอ่านลิ้งค์นี้ประกอบนะจ๊ะ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat





คำถามที่ 8 : เบอร์ของเรือด่วน

คำตอบ : จะติดอยู่ที่ข้างเรือทุกลำ รวมถึงติดอยู่ที่ห่วงยางชูชีพด้วย เพื่อป้องกันการสับสน และเพื่อให้จดจำเรือแต่ละลำได้





คำถามที่ 9 : ข้อเสียของเรือด่วน

คำตอบ : เท่าที่เจอปัญหาของเรือด่วน ก็จะมีเรื่องน้ำกระเด็น(ถ้ากรณีอยู่ขอบเรือ/ริม หรือช่วงฝนตก) และก็อาจมีเสียงดังไปนิดหนึ่ง หากอยู่ด้านท้ายๆเรือ ช่วงที่มีแดดแรงๆอาจต้องดูทิศทางของพระอาทิตย์กันหน่อยนะจ๊ะ จะได้ไม่ร้อนไงจ๊ะ...หากเรือเสียอาจต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อให้เรือลำอื่่นดันเข้าฝั่ง แล้วค่อยรอเรือลำต่อไป แต่ว่าไม่ต้องไปจ่ายตังค์เพิ่มหรอกน๊ะ แจ้งพนักงานเก็บตั๋วว่าเรือเสียก็พอจ๊ะ(ยื่นตั๋วเดิม)...
อาจมีโยกหรือโคลงเคลงบ้างกรณีที่เรือสวนกันหรือเจอคลื่นของเรือลำอื่นๆ(ไม่ต้องตกใจนะจ๊ะ หาที่จับแน่นๆก็พอจ้า เหมือนกับการโหนรถเมลแหละจ๊ะ)

แต่ข้อดีก็ยังเยอะอยู่น๊ะ เรือไม่ติดเหมือนรถ ควบคุมเวลาการเดินทางได้ค่อนข้างแม่นยำ อากาศเย็นสบาย นั่งชมบรรยากาศ ถ่ายภาพสวยๆของแม่น้ำ สะพาน สถานที่ต่างๆถือว่าโอนะจ๊ะ ที่สำคัญราคาของเรือถึงว่ากลางๆไม่แพง





คำถามที่ 10 : ท่าเรือบางโพ เปิดหรือยัง ?

คำตอบ : ปัจจุบันนี้ท่าเรือบางโพ ยังคงงดจอดเทียบท่าเรือชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระหว่างและกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทาง บางซื่อ ท่าพระ บางแค และหัวลำโพง ให้ใช้ท่าเรือที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งก็คือท่าเรือเกียกกาย จะมีผลกับเรือประจำทาง,ธงส้ม(จอดที่ท่าวัดสร้อยทองแทนท่าบางโพ),ธงเหลือง และเขียวจ้า หรือบางคนอาจท่าเรือวัดสร้อยทองแทนแล้วค่อยไปต่อรถเมลอีกที






คำถามที่ 11 : ท่าเรือเขียวไข่กา

คำตอบ : เนื่องจากกรมเจ้าท่าได้ประกาศท่าเรือเขียวไข่กานี้(บริเวณโรงเรียนราชินีบน) ที่โป๊ะมีน้ำรั่ว ซึมเข้าไปในโป๊ะ รวมถึงราวจับต่างๆ ไม่พร้อมใช้งาน จึงเห็นว่าไม่ปลอดภัยในการใช้จอดเทียบเรือ ดังนั้นจึงงดจอดเทียบท่าชั่วคราว จนกว่าจะซ่อมเสร็จ เรือที่มีผลคือเรือประจำทาง(ช่วงนี้น้องๆ หนูๆ ที่เรียนโรงเรียนราชินีบน อาจเดินทางลำบากหน่อยนะจ๊ะ อาจต้องต่อรถเมลอีกต่อหนึ่ง) บางคนก็จะใช้ท่าเรือกรมชลประทานขึ้น-ลงแทน หรือบางคนก็ใช้ท่าเรือพายัพ อันนี้แล้วแต่สะดวกนะจ๊ะ แต่ท่ากรมชลฯจะใกล้กว่านะจ๊ะ

อัพเดทจ้า...ข่าวดีสำหรับน้องๆหนูๆโรงเรียนราชินีบน ตอนนี้ทางกรมเจ้าท่ากำลังมีการเปลี่ยนโป๊ะใหม่มาให้แล้วจ้า และกำลังดำเนินการเชื่อมโป๊ะเข้ากับเสาทั้งสองฝั่ง น่าจะใกล้เสร็จเร็วๆนี้นะจ๊ะ จะได้กลับมาใช้งาน จอดเรือเทียบท่าได้ตามปรกติจ้า....Coming soon.

ข่าวดีมาแล้วจ้า....ท่าเรือเขียวไข่กาเปิดให้บริการแล้วจ้า น้องๆหนูๆที่เรียนอยู่โรงเรียนราชินีบนสามารถใช้บริการได้เป็นปรกติแล้วจ้า......12/2/2556






คำถามที่ 12 : ท่าเรือวัดเขียนไปท่าวัดตึก

คำตอบ : คำถามนี้พอดีวันก่อนได้ยินน้องนักศึกษาได้สอบถามพี่ๆคนคล้องเชือกเรือ เลยอยากจะอธิบายเพิ่มเติมนะจ๊ะ หากเราไปลงเรือแล้วไปขึ้้้นเรือที่ท่าวัดเขียน(เฉพาะเรือธงส้มหรือเรือประจำทาง) แล้วจะเดินทางไปวัดตึกได้ยังไง ก็มีอยู่ 3 วิธีนะจ๊ะ วิธีแรกคือการเดินจ๊ะ เดินๆๆๆ แล้วก็เดิน ระยะทางประมาณ 1 กม. ก็ถือว่าได้เหงื่อเลยทีเดียว เดินออกไปยังถนนที่ผ่านวัดสังฆทาน เจอป้อมตำรวจแล้วก็เลี้ยวซ้ายเดินไปเรื่อยๆผ่านวัดศาลารี และก็จะถึงวัดตึก  วิธีที่สองคือเดินออกไปให้ถึงถนนในวิธีที่ 1 ระยะทางราวๆ 300 เมตร ข้ามสะพานไม้ เดินตรงไปถึงป้อมตำรวจ จากนั้นอยู่ฝั่งเดียวกับป้อมตำรวจ รอรถสองแถว  สาย3 ราคา 8 บาทจ้า ส่วนวิธีที่สามก็นั่งเรือแต่สามารถนั่งได้เฉพาะเรือประจำทางเท่านั้นนะจ๊ะ เพราะธงอื่นๆไม่จอดท่าวัดตึก ราคา 10 บาท แต่มีเฉพาะช่วงเช้าและเย็นๆเท่านั้นนะจ๊ะ ช่วงกลางวันไม่มีนะจ๊ะ





คำถามที่ 13 : ท่าเรือวัดเขมาย้าย?

คำตอบ : ท่าเรือวัดเขมาย้ายจากที่เดิม(ใช้เป็นโป๊ะสำหรับเรือข้ามฝากแทน) มาอยู่ตรงบริเวณวัดเขมา ขยับห่างจากเดิมประมาณ 50 เมตร(ทางตรง) ก็อย่าไปรอนั่งเรือผิดโป๊ะนะจ๊ะ เดี๋ยวจะไม่ทันเรือนะจ๊ะ  เพราะกว่าจะวิ่งมาที่โป๊ะใหม่ ค่อนข้างใช้เวลาสักหน่อย ต้องวิ่งลัดเข้า-ออกซอยหมู่บ้านชุมชนริมแม่น้ำ ส่วนเรือที่มีผลก็คือเรือประจำทางจ้า





คำถามที่ 14 : เรือด่วน ช่วงปีใหม่?

คำตอบ : ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 - วันที่ 1 มกราคม 2556 รวมระยะเวลา 2 วัน จะมีให้บริการเฉพาะเรือด่วนธงส้มเท่านั้นนะจ๊ะ ธงสีอื่นๆจะหยุดให้บริการ






คำถามที่ 15 : เดินทางไปกับเรือด่วน หรือทางไหนสะดวกกว่ากัน ?

คำตอบ : คำถามนี้ค่อนข้างตอบยากหน่อยนะจ๊ะ เพราะหากเปรียบเทียบการเดินทาง ระหว่างเรือ รถเมล หรือรถไฟฟ้า ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันคนละแบบ เช่นหากรถไม่ติด(ค่อนข้างหายากซะหน่อย เหตุการณ์แบบนี้)เดินทางก็ค่อนข้างรวดเร็วและน่าจะดีกว่าเรือ แต่สำหรับเรือแล้วหากค่อนข้างซีเรียสเรื่องเวลาแล้วเป็นเส้นทางที่เหมาะมากๆ โดยเฉพาะเวลาเข้างานตอนเช้าๆ เพราะเวลาจะค่อนข้างแน่นอน ผิดพลาดน้อย หากจะใช้บริการรถไฟฟ้าก็อาจเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าทางอื่น แต่ค่อนข้างรวดเร็วมาก ยกเว้นบางเส้นทางรถไฟฟ้ายังไม่มีให้บริการ ก็ต้องกลับมาใช้บริการทางเรือหรือรถเมลแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราจะเดินทางไป เช่นหากเราอาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี จะเดินทางไปแถวๆสาทร ทางที่สะดวกและอยากแนะนำมากที่สุดคือทางเรือ เต็มที่ก็อาจใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงนิดๆ(เรือประจำทาง) หากใช้ธงส้มหรือเหลืองหรือเขียวหรือแดง เวลาเดินทางก็ลดลง ถึงค่อนข้างไวแน่นอน แต่ถ้าเรามีของพะรุงพะรังการขับรถไปเองหรือนั่งแทกซี่ก็เป็นอีกทางเลือกนะจ๊ะ

แต่ไม่ว่าจะทางไหนก็แล้วแต่ เราควรศึกษาเส้นทางแต่ละทางเอาไว้ เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้มีเส้นทางหลบเลี่ยงไปได้ไงจ๊ะ อาจใช้หลายๆทางรวมๆกันได้หากจำเป็น อาจนั่งรถ ไปต่อเรือ หรืออาจนั่งรถไฟฟ้า ไปต่อเรือ และก็ต่อรถเมลอีกที ก็เป็นได้

เอาเป็นว่าการเดินทาง ทางไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นเรื่องๆไปนะจ๊ะ ลองอ่านคำถามที่ 9 ประกอบด้วยนะจ๊ะ





คำถามที่ 16: ท่าเรือ ที่ใกล้โรงเรียนสตรีนนทบุรี

คำตอบ : ในการเดินทางไป รร.สตรีนนทบุรี นอกจากเดินทางด้วยรถเมล์แล้วยังสามารถนั่งเรือไปได้ด้วยนะจ๊ะ เรือที่ว่านั้นก็คือ เรือประจำทางเท่านั้นนะจ๊ะ จะมีให้บริการช่วงเช้า 3 เที่ยวและช่วงเย็น 2เที่ยวเท่านั้น สามารถขึ้นเรือ(หมายถึงออกจากเรือ)ที่ท่าวัดเขมา และก็เดินออกไปยังถนนหลัก(ถนนพิบูลสงคราม) ซึ่งก่อนนั้นจะผ่านผ่านโรงเรียนกลาโหม(ซ้ายมือ) วัดเขมา(ขวามือ) และโรงเรียนวัดเขมา(ซ้ายมือ) พอถึงถนนพิบูลฯแล้วเลี้ยวขวาไปนิดเดียวก็ถึงโรงเรียนสตรีนนท์ฯแล้วจ้า) ระยะทางรวมๆจากท่าเรือไปถึงโรงเรียนน่าจะประมาณไม่เกิน 300เมตร สะดวกมากๆจ้าเดินทางด้วยเรือ เพราะช่วงเช้ารถจะติดที่ถนนเส้นพิบูลฯมากๆจ้า(แบบว่าติดสนิทจริงๆ) ลองไปใช้บริการดูกันนะจ๊ะ สะดวกจริงๆจ้า





คำถามที่ 17: นั่งเรือด่วน จ่ายเงินยังไง

คำตอบ : ในการใช้บริการด้วยเรือด่วนนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือวิธีแรกสามารถไปจ่ายเงินในเรือได้(จ่ายให้กับพนักงานเก็บตั๋ว ใส่เสื้อเชิ๊ตสีส้ม) และอีกวิธีหนึ่งสามารถซื้อตั๋วจากพนักงานขายตั๋วบนท่าเรือด่วนได้(มีเฉพาะท่าเรือที่ใหญ่ๆเท่านั้นนะจ๊ะ) อัตราค่าโดยสาร ธงแดง 30 บาทตลอดสาย ราคเดียว, ธงเหลือง 20 และ 29 บาท, ธงส้ม 15บาทตลอดสาย ใกล้ไกลราคาเดียว, ประจำทาง 10, 12 และ 14 บาท ตามระยะทางจ้า ส่วนธงเขียว(ปากเกร็ด-สาทร)ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางด้วยนะจ๊ะ โดยเริ่มจากราคา 13, 20 และ 32 บาท แล้วอย่าลืมเก็บตั๋วไว้ทุกๆครั้งด้วยนะจ๊ะ





คำถามที่ 18: ความเคลื่อนไหวของเรือด่วน ช่วงปิดเทอม 2556 นี้


คำตอบ : เรือด่วนเจ้าพระยาจะทำการปรับเปลี่ยนการเดินเรือในช่วงปิดเทอม ชั่วคราว เริ่มวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556 นี้ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เรือประจำทาง วันจันทร์-ศุกร์ช่วงเช้าจะมีให้บริการ 2 เที่ยว คือ 07.00น. และ 07.30น. ส่วนตอนเย็นมีบริการ 2 เที่ยวคือ 16.00น. และ 16.30น.
2. งดให้บริการเรือโดยสาร ส่วนต่อขยายสาทร- ราษฎร์บูรณะ
3. งดเดินเรือด่วนธงแดง นนทบุรี-สาทร





คำถามที่ 19 : เรือด่วนเจ้าพระยาวิ่งไปนนทบุรีถึงไหนครับ?

คำตอบ : เจอคำถามแบบนี้ตอบ ยากเหมือนกันนะจ๊ะ แต่ก็จะพยายาม จะตอบให้ตรงคำถามนะจ๊ะ ถ้าเป็นเรือประจำทาง, ธงส้ม,ธงเหลืองและธงแดง จะสุดสายที่ท่าน้ำนนทบุรี ใกล้ๆกับธนาคารกสิกรไทยสาขาท่าน้ำนนท์ฯ บริเวณหอนาฬิกาจังหวัดนนทบุรีหรือใกล้ๆกับศาลากลางเก่าของจังหวัดนนทบุรี และถ้าเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะถึงตลาดนนท์ฯจ้า ส่วนเรือธงเขียวนอกจากจะจอดที่ท่าน้ำนนท์แล้วจะยังวิ่งไปต่อ ไปสุดสายที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ถ้านั่งเรือมาสุดสายที่ท่าน้ำนนท์ฯ(ปัจจุบันเรือจะจอดเทียบท่า ที่โป๊ะเกือบจะเหนือสุดจ้า) ขึ้นจากเรือและเดินออกจากท่าเรือ ข้างหน้า ค่อนๆไปทางซ้ายนิดหนึ่งจะมี ธ.กสิกร ขวามืออีกหน่อยจะเป็นหอนาฬิกาสูงๆใหญ่ๆ(อยู่ตรงกลางวงเวียน) ขวามือมากกว่าเดิมก็จะเป็นศาลากลางเก่า และถ้าเดินมาตรงหอนาฬิกา ตรงไปสัก 200 เมตร ทางขวาก็จะเป็นตลาดนนทบุรี  อาจแวะหาของกิน ของฝาก มีให้เลือกซื้อกันเยอะแยะ อร่อยๆทั้งนั้นจ้า....ลองดูจ๊ะ  




คำถามที่ 20 : ท่าเรือด่วนพระราม 8 มีไหม?

คำตอบ : ท่าเรือพระราม 8 มีจ๊ะ แต่จะมีเฉพาะเรือประจำทางเท่านั้นน๊ะที่มาจอดเทียบท่า จะจอดเทียบท่าที่ฝั่งพระนคร หรือฝั่งวิสุทธิกษัตริย์(โป๊ะเรือจะอยู่คนละฝั่งน้ำกับสวนสาธารณะพระราม 8) ธงอื่นๆไม่จอดนะจ๊ะ




คำถามที่ 21 : วันแรงงานเรือประจำทางหรือเรือธรรมดาไม่มีธงวิ่งหรือเปล่า?

คำตอบ : วันแรงงาน 1 พ.ค เรือประจำทางหยุดแล่นนะจ๊ะ นอกเหนือจากนี้หากตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็หยุดให้บริการด้วยจ้า



คำถามที่ 22 : เรือด่วนจอดปากคลองตลาด?

คำตอบ : สำหรับผู้โดยสารท่านใดจะเดินทางไปปากคลองตลาดโดยการเดินทางไปกับเรือด่วนเจ้าพระยา ก็สามารถไปได้เช่นกัน โดยไปขึ้นเรือ(ออกจากเรือ)ที่ท่าจอดเทียบท่าสะพานพุทธฯ และเดินไปทางซ้ายและตรงต่อไปอีกนิดนึงก็ถึงตลาดแล้วจ้า ที่ปากคลองตลาดนี้จะมีดอกไม้วางขายกันเยอะมาก สามารถไปเลือกซื้อกันอย่างจุใจนะจ๊ะ เรือที่จอดเทียบท่าก็จะมีเรือธงส้มและเรือประจำทาง (ท่าเรือสะพานพุทธอยู่ตรงกลางระหว่างท่าราชินิและท่าราชวงค์)



ยังไงแล้ว ถ้ามีคำถามที่แตกต่างไปจากนี้จะมาอัพเดทให้นะจ๊ะ หรือสามารถสอบถามมาที่ Email : intiew@gmail.com ก็ได้นะจ๊ะ แล้วจะพยายามเคลียร์ปัญหาให้นะจ๊ะ




วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง ของเรือด่วน เค้าคือใคร?

มีใครเคยได้ยินคำว่า " พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง " ของเรือด่วน มาบ้าง?

การเตรียมตัวคล้องเชือกก่อนถึงโป๊ะเรือ ของเด็กท้ายเรือ
การเตรียมตัวคล้องเชือกก่อนถึงโป๊ะเรือ


         เมื่ออ่านๆ หรือฟังๆแล้ว คงไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่ ว่า เอ๋ เค้าเป็นใครกันแน่ หลายๆคนคงเดากันไปต่างๆนานา อาจเป็นช่างซ่อมเครื่อง หรือพนักงานอะไรซักกะอย่าง ที่อยู่บนเรือ แต่ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ นั่นก็คือ (ขออนุญาตเรียกชื่อนี้นะจ๊ะ)เด็กท้ายเรือของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง ส่วนใหญ่จะใส่เสื้อสีส้มๆ มีหน้าที่คล้องเชือกให้เรือ เวลาเข้าจอดเทียบท่า ทีนี้ก็ต้องร้องอ๋อพร้อมกันเลย เป็นอย่างนี้นี่เอง

         วันนี้ express boat จะมาแนะนำให้รู้จัก พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง หรือ เด็กท้ายเรือด่วน กันให้พอเข้าใจ ว่าแต่ละคนเค้ามีคุณสมบัติหรือความสามารถกันอย่างไรบ้าง เพื่อบางคนที่อาจชอบลักษณะงานแบบนี้ก็จะลองไปสมัครดูนะจ๊ะ บอกได้เลยว่า มันส์ได้ใจเลยแหละ


หน้าที่หลักๆมีดังนี้

1. ต้องสามารถคล้องเชือกได้อย่างรวดเร็ว
2. ให้สัญญาณเรือเข้า-ออกจากท่าเรือ ด้วยการเป่านกหวีด, ออด หรือสัญญาณมือ
3. ดูแลรับผิดชอบบริเวณท้ายเรือ ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเวลาขึ้น-ลงเรือ
4. ให้คำปรึกษาแก่ผู้โดยสารได้


พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง กำลังคล้องเชือก
ที่โป๊ะเรือ พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง กำลังคล้องเชือกเรือด่วน


คุณสมบัติที่ต้องมีเป็นพิเศษ
 
1. ว่ายน้ำเป็น อันนี้สำคัญมากๆ ในกรณีฉุกเฉิน
2. เพศชาย อายุระหว่าง 18 - 38 ปี ต้องเป็นผู้ชายร่างกายแข็งแรงนั่นเอง
3. มีความกระตือรือล้นในการทำงาน ต้อง Active
กระฉับกระเฉง อยู่ตลอดเวลา 
4. มีความรับผิดชอบในงาน อันนี้สำคัญเช่นกัน
5. อัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรกับผู้โดยสาร

6. มีความอดทน ทนทานต่อแดด น้ำ ลม ฝน และอื่นๆ
7. เป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง จะได้รู้เส้นทางและเก่งด้านทางน้ำเป็นอย่างดี

8. มีสติและสามารถช่วยเหลือคนจมน้ำได้อย่างถูกวิธี


         ถ้าพูดถึงเรื่อง ความอดทน แล้ว ต้องยกให้เป็น ที่หนึ่ง เลยสำหรับงานบริการสำคัญๆด้านนี้ เพราะนอกจากจะเป่านกหวีดให้สัญญาณเวลาเรือเข้าจอดหรือออกจากท่า และคล้องเชือกแล้ว ต้องมีความอดทนค่อนข้างสูง อย่างช่วงนี้ฟ้าฝนก็ตกแทบทุกๆวัน เด็กท้ายเรือแต่ละคนต้องตากฝน เปียกฝน ครั้นจะใส่เสื้อกันฝน ก็อาจทำให้เกะกะ ไม่สะดวกในการทำงาน เนื่องจากอาจต้องมีการกระโดดไป-มา ระหว่างเรือกับโป๊ะ เพื่อจะคล้องเชือกให้ได้ หากไม่สามารถคล้องเชือกได้เรืออาจหลุดโป๊ะ ทำให้เสียเวลาในการเข้าจอดมากขึ้น แบบนี้ผู้โดยสารคงไม่ชอบแน่นอน ยิ่งบางคนรีบๆซะด้วย อิอิ บางวันฝนไม่ตกแต่ก็มีแดดแรงซะ ก็ต้องทนกันไป วันดีคืนดีถูกคลื่นน้ำซัดกระเด็นเข้าใส่อีก เปียกเหมือนกัน บางวันโชคไม่ค่อยดีถึงกลับต้องพลัดตกน้ำไปเลยก็มี (นี่แหละถึงต้องมีคุณสมบัติว่ายน้ำเป็น เป็นอะไรที่ขาดเสียมิได้) นี้แหละถึงได้บอกว่า ต้องยกให้เป็น ที่หนึ่ง เรื่องความอดทน สุดยอด เอาไปเลย 10 กะโหลก

เทคนิคการคล้องเชือกของเด็กท้ายเรือด่วน
เทคนิคการคล้องเชือก เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา


         แต่บางคนอาจเคยเห็นคนขับเรือมาเป็นเด็กท้ายเรือก็มีนะ อันนี้ไม่ต้องตกใจนะจ๊ะ อาจสงสัยว่าเรือหายไปไหน ไม่ขับเรือแล้วเหรอ??? ขับจ้าๆขับๆ จริงๆเขาก็คือคนขับเรือนั่นแหละจ้า ส่วนใหญ่จะเจอช่วงเช้าๆหรือเย็นๆ ทั้งนี้เนื่องจากกรณีฉุกเฉินหรือเป็นช่วงเริ่มต้นหรือขากลับจากการขับเรือมาแล้วนั่นเอง คนขับบางคนต้องเดินทางไปขับเรืออีกลำหนึ่ง บางคนอาจจะเลิกจากการขับเรือแล้วจะกลับที่พัก ก็เลยแวะมาเป็นคนคล้องเชือกและให้สัญญาณแทน ถือว่าเป็นข้อดีนะ เพราะคนที่จะขับเรือที่ดีได้นั้น ต้องค่อนข้างรู้เทคนิคการคล้องเชือกแบบไหนจะดีและไว เมื่อถึงเวลาไปขับเรือจะได้ช่วยคนคล้องเชือกให้ได้สะดวกยิ่งขึ้น รู้ใจเขาใจเรา ไปโลด.....

         หากใครสนใจตำแหน่งงานที่ท้าทายแบบนี้ก็ลองไปสมัครได้นะจ๊ะ ตำแหน่งที่ต้องยกนิ้วโป้งให้ เยี่ยมกู้ด ว่านายแน่มาก....

 

ขอขอบคุณ พนักงานประจำเรือ หรือ ช่างเครื่อง และ ข้อมูล จาก บ.เรือด่วนฯ
 

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค ซ้อมย่อยครั้งที่ 3

พิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ้อมย่อยครั้งที่ 3


         อย่าลืมนะจ๊ะวันพรุ่งนี้ วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นวันซ้อมย่อยครั้งที่ 3 ก็เลยเอาตารางพิธีฝึกซ้อมฯ ที่อัพเดทล่าสุดจากเรือด่วนฯ มาให้พิจารณากันนะจ๊ะ หากใครที่จะใช้บริการเรือด่วนในวันและเวลาดังกล่าวก็ให้วางแผนการเดินทางให้ดีๆนะจ๊ะ


ตารางพิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค ซ้อมย่อยครั้งที่ 3
ตารางพิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค

        จากตารางจะมีเรือเสริมช่วงเย็นจากวังหลังไปนนทบุรี ธงส้ม เวลา 16.30 น., 16.50 น. และเสริม วังหลังไปวัดราชสิงขร 18.00 น. - 18.20 น. ส่วนเรือธงเขียว จะมีเสริมจากวังหลังไปปากเกร็ดเวลา 16.30 น. - 16.50 น. หากสะดวกในเวลาข้างต้นก็สามารถใช้บริการเรือด่วนได้นะจ๊ะ

         ช่วงเช้าๆ ไม่เกิน 11.00 น. ยังมีบริการเรือตามปรกตินะจ๊ะ ยกเว้นรอบ 07.45 น. ของเรือธงเหลือง ที่มาจากราษฎร์บูรณะ จะไปนนทบุรี หมดระยะที่ท่าราชวงศ์ และช่วงเย็นๆ เรือธงต่างๆต้องดูตารางข้างบนประกอบ



อัพเดท 7 ตุลาคม 2555

         อย่าลืม!!! ในวันพรุ่งนี้ วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2555 เป็นวันซ้อมย่อยครั้งที่ 4 หากใครที่จะใช้บริการเรือด่วนในวันและเวลาดังกล่าวก็ให้หลีกเลี่ยงและวางแผนการเดินทางให้ดีๆนะจ๊ะ

 

อัพเดท 10 ตุลาคม 2555

         อย่าลืม!!! สัปดาห์นี้มีพิธีซ้อมฯ 2 ครั้งนะจ๊ะ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา และครั้งต่อไปจะมีในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2555 เป็นวันซ้อมย่อยครั้งที่ 5 หากใครที่จะใช้บริการเรือด่วนในวันและเวลาดังกล่าว แนะนำให้เปลี่ยนเส้นทาง อาจใช้บริการรถเมลแทน และวางแผนการเดินทางให้ดีๆนะจ๊ะ หรือใครอยากไปดูพิธีซ้อม ก็เชิญตามสะดวกนะจ๊ะ ราวๆ บ่ายสาม น่าจะผ่านแถวสะพานปิ่นเกล้านะจ๊ะ สิ่งสำคัญ มีร่มสักอันคงจะดีไม่ใช่น้อย


อัพเดท 16 ตุลาคม 2555

         สำหรับอาทิตย์นี้มีพิธีซ้อมฯ 1 วันนะจ๊ะ คือวันศุกร์ที่่ 19 ตุลาคม 2555  เป็นวันซ้อมย่อยครั้งที่ 6 จากจำนวนซ้อมย่อยทั้งหมด 8 ครั้ง, ซ้อมใหญ่อีก 2 ครั้ง แล้วก็วันเสด็จฯจริง ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 สามารถไปชมพิธีฯได้จ้า



อัพเดท 27 ตุลาคม 2555

         สำหรับสัปดาห์นี้มีพิธีซ้อมฯ 1 วัน คือวันพฤหัสฯ ที่่ 25 ตุลาคม 2555  เป็นวันซ้อมย่อยครั้งที่ 7 เหลือซ้อมย่อยอีก 1 ครั้ง(สัปดาห์หน้า ในวันจันทร์ ที่ 29 ตุลาคมนี้ วันซ้อมย่อยครั้งที่ 8) จากนั้นจะเป็นการซ้อมใหญ่อีก 2 ครั้งนะจ๊ะ ช่วงนี้น้ำเจ้าพระยาไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เพราะฝนไม่ตกแล้ว หลายๆคนคงดีใจ ที่ไม่ต้องลุ้นว่าจะท่วมหรือไม่ (หวังว่า คงไม่น่าจะท่วมแล้วน๊ะ) ส่วนภาคอื่นๆก็เริ่มหนาวๆกันบ้างแล้ว ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑลคงต้องลุ้นว่าจะหนาววันไหน และจะหนาวกันสักกี่วัน เอาใจช่วยนะจ๊ะ จะได้ใส่เสื้อกันหนาวกันอีกครั้งจ้า ส่วนใครที่ต้องการไปชมพิธีในวันเสด็จฯจริง ก็สามารถไปจับจองสถานที่ได้นะจ๊ะ หนึ่งในนั้นก็สามารถจองได้จาก บ.เรือด่วนฯ นะจ๊ะ ต้องลองติดต่อกันเอาเองนะจ๊ะ 

อัพเดท 5 พฤศจิกายน 2555

        อาทิตย์นี้ ยังคงเหลือการซ้อมใหญ่อีก 1 ครั้งนะจ๊ะ (วันพรุ่งนี้ อังคาร ที่ 6 พฤศจิกายน 2555) หากใครที่อยากไปดูพิธีซ้อมใหญ่ครั้งที่ 2 ก็ยังคงแวะเวียนไปได้นะจ๊ะ ขอบอกว่า...พิธีซ้อมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา(ซ้อมใหญ่ครั้งที่ 1 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน) สวยงามและยิ่งใหญ่มากๆจ้า และอย่าลืมวันเสด็จฯจริง ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ด้วยนะจ๊ะ  1 ปีมีแค่ครั้งเดียวนะจ๊ะ 
       มีประกาศจาก บ.เรืิอด่วนฯมาฝากจ้า สรุปใจความได้ว่า ทางเรือด่วนเจ้าพระยาจะงดจอดเทียบที่ท่าเรือพระราม 7 ตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป ในวันซ้อมใหญ่และวันเสด็จจริง เนื่องจากสำนักระบายน้ำจะทำการติดตั้งแพไม้ไผ่กั้นเศษสวะต่างๆ ไม่ให้พวกผักตบและเศษขยะต่างๆลอยไปในพิธีฯ ดังนั้นจึงประกาศให้ผู้ที่โดยสารด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา วางแผนการเดินทางและหลีกเลี่ยงที่ท่าพระราม 7 ในวันและเวลาดังกล่าวด้วยนะจ๊ะ


งดจอดเรือท่าพระราม 7 ในวันซ้อมใหญ่และวันเสด็จจริง
งดจอดเรือท่าพระราม 7 หลัง 09.00น.




อัพเดทล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2555

        และแล้ววันพรุ่งนี้(วันศุกร์ ที่ 9 พฤศจิกายน 2555) ก็ถึงวันเสด็จจริงของ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นวันที่หลายๆคนตั้งตารอคอย เพราะจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของขบวนเรือ ที่เพรียบพร้อมไปด้วยความสวยงาม อลังการ หากใครพลาดชมละก็ต้องบอกได้เลยว่า ...เสียดายแย่เลย ต้องรออีกทีก็ปีหน้ากันเลยทีเดียว ซึ่งการซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง ที่ผ่านมา นั้นแสดงให้เห็นถึงความงดงามและยิ่งใหญ่มากๆ หากใครที่ต้องการไปชมก็สามารถแวะไปชมได้ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใครมีกล้องถ่ายรูปเจ๋งๆก็สามารถไปเก็บภาพความประทับใจได้นะจ๊ะ  อ้อ อีกเรื่องหนึ่งนะจ๊ะ ในช่วงวันเวลาดังกล่าวจะมีการปิดสะพานด้วยนะจ๊ะ ก็จะมีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ สะพานพระราม 8 ใครที่ผ่านไปมาแถวๆสะพานดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงด้วยนะจ๊ะ  ที่สำคัญอย่าพลาดชมด้วยนะจ๊ะ ....สวยงามม๊ากมาก จ้า

         สำหรับผู้ที่ใช้บริการทางเรือ วันพรุ่งนี้ช่วงเช้าจะมีเรือวิ่งไม่เกิน 9 โมงนะจ๊ะ(ช่วงเวลาก่อนเก้าโมงเช้ายังมีบริการเรือเป็นปรกตินะจ๊ะ) ให้วางแผนการเดินทางและหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่เกิน 9 โมงดังกล่าวด้วยนะจ๊ะ


ขอขอบคุณ ตารางพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค จาก บ.เรือด่วน

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อควรระวังระหว่างการรอเรือจอดเทียบท่า

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารทุกท่านที่กำลังรอเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

การยืนรอเืรือจอด

ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่โดยสารด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ควรปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยจ้า

1. ห้ามยืนบนโป๊ะเลยแถบเส้นเหลือง(เหมือนรอรถไฟฟ้าเลยง่ะ ) ที่มาที่ไปของข้อห้ามข้อนี้ก็คือ เมื่อเรือกำลังจะจอดเทียบท่า เด็กท้ายเรือหรือพนักงานประจำเรือหรือช่างเครื่อง ต้องทำการคล้องเชือกซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่แถบสีเหลือง อาจเกิดอันตรายได้หากเราไปยืนเกะกะ หรือขวางการคล้องเชือก เพราะการจอดเรือจะใช้ระยะเวลาและไม่ง่ายเหมือนการจอดรถยนต์
ไม่ควรยืนเกินล้ำแถบเส้นสีเหลืองของโป๊ะเรือ
ระหว่างรอเรือจอดเทียบท่า ไม่ยืนเกินล้ำเส้นสีเหลือง

2. ห้ามยืนบนโป๊ะ เกินจำนวนที่เค้าเขียนบอกไว้ หากเกินน้ำหนักที่โป๊ะจะรับน้ำหนักได้ อันตรายอาจทำให้โป๊ะล่มได้ หากมีคนรอบนโป๊ะมากเกินไป ควรรออยู่บนท่าเรือจะดีกว่า ไม่ต้องรีบก็ได้จ้า

3. ระหว่างการรอเรือบนโป๊ะ ควรหาที่จับยึดให้แข็งแรง สำหรับข้อนี้อาจมีคลื่นจากเรือลำอื่นที่แล่นไป-มา หรือคลื่นจากเรือลำที่กำลังจะจอดเทียบท่า อาจทำให้โป๊ะเรือโยกหรือโคลงได้ หากเผลอหรือไม่อยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมอาจทำให้พลัดหล่นจากโป๊ะได้

4. ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา อย่าเผลอ อย่าง่วงวูบหลับไปล่ะ เหตุผลคล้ายกับข้อ 3 อาจทำให้ร่วงหล่นจากโป๊ะได้

5. หากมีเด็กหรือคนชรา อย่าปล่อยให้ยืนตามลำพัง เด็กๆหรือคนชราควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครอง เพื่อความปลอดภัย

6. อย่ายืนตรงบริเวณรอยต่อของทางขึ้นลง หรือรอยต่อที่ขยับเลื่อนไปมาได้ อันตรายอาจ หนีบหรือทับเท้าได้ เมื่อมีคลื่นกระทบกับโป๊ะเรือ ส่วนรอยต่อต่างๆจะขยับไป-มา หากเราเอาเท้าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายอยู่บริเวณนั้นอาจทำให้ถูกหนีบเป็นอันตรายได้

7. เก็บสิ่งของที่คาดว่าจะร่วงตกง่ายให้เรียบร้อย สิ่งของต่างๆหรือของมีค่าควรทำการเก็บให้ซะเรียบร้อย ไม่ร่วงหล่นลงน้ำได้ง่าย เพราะหากร่วงลงไปในน้ำคงจมและเอากลับคืนมาได้ยาก

8. หากเรือยังไม่มาไม่ควรไปยืนรอบนโป๊ะเรือ เนื่องจากที่โป๊ะเรือจะโยกเยกตลอดเวลา อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

รอเรือที่บนท่าเรือเทเวศน์
หากเรือยังไม่มา ไม่ควรยื่นรอเรือบนโป๊ะ

9.หากลงเรือไม่ทันจริงๆ ไม่ควรวิ่ง หรือกระโดดเข้าเรือนะจ๊ีะ อันนี้หากพลาดขึ้นมาอาจลื่นล้มหรือตกน้ำได้นะจ๊ะ รอลำใหม่ดีกว่าจ้า หรือออกก่อนเวลา(เผื่อเวลาไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินบ้าง)

        ปรกติแล้วสำหรับโป๊ะเรือขนาดกลางขึ้นไปจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่ายืนอยู่ประจำโป๊ะเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลง รวมถึงระหว่างรอเรือและตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยจากผู้ที่จะโดยสารด้วยเรือ หากใครที่ไม่แน่ใจเรื่องใดสามารถเข้าไปสอบถามได้นะจ๊ะ ไม่ต้องกลัว หรือเขินล่ะ เดี๋ยวจะนั่งเรือผิดแล้วจะแย่นะจ๊ะ พี่ๆเค้าใจดีกันทุกๆคนนะจ๊ะ ให้คำปรึกษาได้ฟรีจ้า ไม่คิดตังค์ นอกเหนือจากคนไทยแล้วพี่ๆเค้ายังสามารถตอบข้อสงสัยจากชาวต่างชาติได้ด้วยนะจ๊ะ แหม เดี๋ยวนี้พี่ๆเค้าเก่งภาษากันทุกๆคนเลยจ้า จะได้รณรงค์การท่องเที่ยวไปในตัว ฝรั่งจะได้มั่นใจกลับมาเยี่ยมเยือนประเทศเราใหม่ในโอกาสต่อๆไป

         ตอนนี้ยังอยู่หน้าฝนอยู่เลย การใช้บริการกับเรือด่วนควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นนะจ๊ะ และก็ช่วงนี้โรงเรียนหลายๆที่เริ่มปิดเทอมไปบ้างแล้ว ทำให้เรือต่างๆมีจำนวนผู้โดยสารน้อยลงไม่มากเหมือนตอนเปิดเทอม ไม่ต้องแปลกใจนะจ๊ะว่าทำไมเรือถึงได้โล่งจัง 

         อ้ออีกเรื่องหนึ่งมีผู้คนสงสัยว่าเรือธงเขียวมีบริการในวันเสาร์ อาทิตย์ไหม ?  คำตอบ ยังไม่มีวิ่งหรือแล่นในวันเสาร์ อาทิตย์หรอกจ้า วันเสาร์จะมีแค่เรือธงเหลืองช่วงเช้าๆถึงประมาณ 8 โมงเองจ้า ที่เหลือนอกจากนั้นจะมีเรือธงส้มให้บริการตลอดทั้งวันจ้า แต่ระยะเวลาการรอ อาจรอนานกว่าวันปรกตินิดหนึ่งจ้า ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat

วันเสาร์ วันอาทิตย์ มีให้บริการเฉพาะเรือด่วนธงส้ม
บริการด้วยเรือด่วนธงส้มจ้า

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ้อมย่อยครั้งที่ 2

ฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ้อมย่อยครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555



         อย่าลืมนะจ๊ะ วันพรุ่งนี้(พฤหัสบดีที่ 27 กันยายน) มีพิธีซ้อมย่อยครั้งที่ 2 ท่านที่เดินทางกับเรือด่วน ก็อย่าลืมเลี่ยงเดินทางกับทางน้ำ ตั้งแต่ 11.00 - จนถึงช่วงเย็น (ลองเข้าดูที่บทความ ประกาศหยุดเดินเรือชั่วคราว ในพิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค) น่าจะยึดหลักปฏิบัติเดียวกันกับวันที่ 21 ที่ผ่านมา

         ขอให้วางแผนการเดินทางกันให้ดีๆนะจ๊ะ ด้วยความปรารถนาดีจาก เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะมาแจ้งข้อมูลให้ทราบนะจ๊ะ


อัพเดทล่าสุด เย็นวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555

         จะมีเรือเที่ยวเสริมพิเศษ ช่วงเวลา 18.40 น. จะมีเรือธงเหลือง จุดหมายปลายทางจังหวัดนนท์ กรณีนี้ ก่อนหน้านี้หากใครยังติดภาระกิจใดๆ ก็ยังสามารถใช้บริการเรือเที่ยวนี้ได้นะจ๊ะ แต่ผู้โดยสารค่อนข้างเยอะหน่อย เพราะต่างคนต่างก็รอเรือกลับบ้านกันทั้งนั้นจ้า...วันนี้ผู้เขียนได้ลองมานั่งเรือดู ปรกติแล้วผู้เขียนเองจะใช้บริการรถเมลสาย 203 กลับบ้านแทนเรือในวันที่มีพิธีซ้อม แต่วันนี้พอดีติดงานอยู่พักนึง ก็เลยลองใช้บริการเรือเสริมดูจ้า ก็มารอที่ท่าเรือปิ่นเกล้าประมาณ 6 โมงเย็น(18.00 น.) ใช้เวลาในการรอเรือประมาณ 40 นาทีเห็นจะได้ ผู้โดยสารที่มารอเรือเหมือนกับตัวผู้เขียนเองก็ยังอยู่เนืองแน่นพอสมควรอีกทั้งช่วงเย็นวันนี้ฝนตกหนักมากซะด้วย เล่นเอาซะเปียกไปเลย นี่ขนาดมีร่มแล้วอ่ะนะ ก็ยัง....ใจนึงยังคิดว่าจะตกนานไหมหนอ ขอให้อย่าตกเยอะเลยเดี๋ยวน้ำจะท่วม เล่นตกซะเืกือบชั่วโมง ดีนะน้ำไม่ท่วมแถวๆนั้น รอดไปอีกวันนึง... วันนี้กว่าจะกลับถึงบ้านได้ก็เกือบๆ  2 ทุ่มแล้วแหละ เนื่องจากไม่ได้นั่งเรือประจำทาง ต้องไปขึ้นเรือที่ท่าน้ำนนท์ และต้องต่อรถสองแถวเข้าบ้านอีกต่อนึง ก็เลยน๊ะ...

         แต่ก็ยังถือว่า ยังมีเรือเสริมเรื่อยๆนะ ยังพอโอเคอยู่ อันนี้ต้องคอยติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ของ บ. เรือด่วนฯ กันอยู่เสมอนะจ๊ะ จะได้ไม่พลาดโอกาสกันไงจ๊ะ ก็ครั้งต่อไปซ้อมย่อยครั้งที่ 3 วันพฤหัสบดี ที่ 4 ตุลาคม 2555(อาทิตย์หน้า) ก็ต้องติดตามข่าวสารกัน ว่าทางเรือด่วนฯจะประกาศออกมาว่ายังไงบ้าง จะมีเรือเสริมที่ไหนบ้าง เวลาเท่าไหร่ แล้วผู้เขียนเองจะมาอัพข้อมูลให้นะจ๊ะ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์นะจ๊ะ ฝันดีกันทุกๆคน ถึงฝนจะตกหนัก ก็ไม่เป็นไร ขออย่าได้ท่วมก็พอ ว่ามั้ย...จ๊ะ

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ช่วงนี้น้ำขึ้น ให้เดินทางก่อนเวลา 10-15 นาที

ช่วงนี้น้ำขึ้น ให้ผู้ที่โดยสารเรือด่วนออกเดินทางก่อนเวลานิดนึง


        ช่วงนี้ฝนตกบ่อยและบางวันตกหนักซะด้วยสิ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงเรื่อย ท่านผู้ที่โดยสารด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาจะออกไปทำงานควรออกก่อนเวลาปรกติสัก 10-15 นาทีนะจ๊ะ เพราะว่าน้ำหนุนขึ้นสูง ทำให้ทางบริษัทเรือด่วนฯ กำหนดให้บางช่วงบางจุด ให้ขับขี่เรือด้วยความระมัดระวัง และให้ขับช้าๆในช่วงบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ใกล้เขตชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ไม่ต้องแปลกหรือสงสัยนะจ๊ะ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หากแล่นเรือไวเกินไปจะทำให้คลื่นไปกระทบกับบ้านที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำ พังและเสียหายได้ จึงมีผลทำให้ใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้าหน่อยนะจ๊ะ

ประกาศจากเรือด่วน น้ำขึ้นสูงให้ลดความเร็วเรือลงก่อนจอดเทียบท่า และให้เดินเรือกลางแม่น้ำ
ประกาศเรือด่วน ให้ลดความเร็วเรือลงก่อนจอดเทียบท่า

        สำหรับการขึ้นหรือลงเรือให้ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกทำให้พื้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นของท่าเรือ สะพานข้ามไปยังโป๊ะ พื้นของเรือ เปียกแฉะ อาจทำให้หกล้มหรือลื่นได้ ก่อนการเดินขึ้น-ลงเรือต้องให้มั่นใจเสียก่อนแล้วค่อยก้าวเท้าออก ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ควรวิ่งเป็นอย่างยิ่ง หากไม่มาทันเรือจริงๆ รอลำต่อไปก็ได้จ้า จะได้ปลอดภัย เพราะไม่คุ้มเลยหาก ลื่นหรือพลัดตกน้ำไป คงไม่ดีแน่นอน ขอบอกว่าอันตรายนะจ๊ะ ที่ใต้น้ำ ไหลเชี่ยวแรงมาก

        มีร่มสักอันก็น่าจะดี เพราะระหว่างยืนรอเรือ หรือ ยืนรอให้ผู้โดยสารที่อยู่ภายในเรือก้าวออกมาจากเรือ(ขึ้นเรือ) นั้นคงเปียกฝนแน่ๆถ้าไม่มีร่ม ควรยืนกางร่มไปก่อน จนกว่าจะได้ลงเรือค่อยเก็บร่มนะจ๊ะ และก็ไม่ควรถือของพะรุงพะรังมาก เดี๋ยวจะวุ่นวายและเกะกะทั้งเราและผู้โดยสารท่านอื่นเค้าจ้า เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือแล้วก็ให้เดินเข้าไปข้างในหรือยืนหลบๆก่อนนะจ๊ะ ไม่ควรไปยืนเกะกะคนอื่นเค้านะจ๊ะ เพื่อคนที่เข้ามาหลังจากเรา จะได้เข้ามาได้อย่างปลอดภัย (ดูแลตัวเองและคนรอบข้างด้วยจ้า รักกันๆคนไทยด้วยกัน) โดยเฉพาะเวลามีผู้โดยสารเยอะๆ ทำให้การเดินเข้า-ออกเรือค่อยข้างลำบาก 

        หรือไม่ก็ใช้เสื้อกันฝนก็เข้าท่าดีนะเนี่ย เอาแบบกระชับเข้ารูปนิดนึง จะได้ไม่ถูกลมพัดสะบัดน้ำไปถูกคนข้างๆจ้า และก่อนจะออกจากเรือก็เตรียมพร้อมสำหรับที่จะกางร่ม เมื่อเรือจอดเทียบท่าสนิทดีแล้วค่อยก้าวออกจากเรือ จากนั้นจึงค่อยกางร่มนะจ๊ะ ปลอดภัยและก็ไม่เปียกด้วย

        ระหว่างนั่งเรือที่กำลังแล่นฝ่าฝนที่กำลังตกนั้น อาจมีละอองน้ำจากฝนกระเด็นถูกบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ริมๆทั้งสองข้างของเรือ นี่ข้อแนะนำเลยนะจ๊ะี ควรอยู่บริเวณกลางๆเรือนะจ๊ะ กลางทั้งความยาว กลางทั้งความกว้าง ค่อนๆท้ายนิดนึง ตำแหน่งกำลังดี ไม่ถูกน้ำฝนกระเด็นแน่นอนจ้า สำหรับผู้ที่อยู่ด้านข้างหรือริม ก็ให้ปลดผ้ายางกันสาด(เกี่ยวกับตะขอเอาไว้)ลงมานะจ๊ะ ป้องกันน้ำฝนและน้ำที่กระเด็นจากภายนอกได้เป็นอย่างดีจ้า

        ช่วงนี้ต้องติดตามข่าวสารและใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือด้วยนะจ๊ะ... ไม่แน่ ดีไม่ดี หากน้ำยังขึ้นสูงเรื่อยๆ ทางเรือด่วนอาจต้องลดจำนวนเที่ยวเรือและหยุดวิ่งไปในที่สุด(เหมือนปีที่แล้ว 54 ไงจ๊ะ) คงต้องหันมาใช้บริการรถเมลแล้วแหละ แบบนั้นคงแย่เลยต้องไปเจอกับรถติด เหมือนเคย....

ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นสูง ขุ่นด้วย
ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นสูง

        ขอขอบคุณผู้ที่โดยสารเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาทุกท่านที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องราวหลายๆอย่างมา ณ ที่นี้

        อัพเดท 26/9/55 เพิ่มเติมจ้า ช่วงนี้(2-3 วันที่ผ่านมา)น้ำลงแล้วนะจ๊ะ น้ำลดลงไปเยอะเหมือนกัน หากฝนไม่ตกหนักจริงๆ คงจะไม่กลับมาขึ้นอีกรอบเป็นแน่ น่าจะสบายใจกันได้ไม่มากก็น้อย ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับเราคนไทยและคนที่พักอาศัยใกล้ริมแม่น้ำ ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แล้วจะมาอัพข้อมูลให้เรื่อยๆนะจ๊ะ


วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ฝนตกหนัก แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเยอะจัง

ไฉนนั่งเรือผิดธงเนี่ย?


        ช่วงหน้าฝน ฝนนี่ก็ตกแทบทุกวัน และชอบจัง...น๊ะ ตกมาได้ในเวลาใกล้ๆเลิกงาน วันนี้ก้อเป็นอีกหนึ่งวันที่ฝนตกตอนเลิกงานพอดี ผู้เขียนเองรีบคว้าร่มในกระเป๋า รีบรุดไปที่ท่าเรือปิ่นเกล้าอย่างไว อันนี้ต้องรีบหน่อยเดี๋ยวไม่ทันเรือประจำทาง ร่มอันน้อยๆแถมใกล้จะพัง เล่นเอาซะเปียกฝนไปเลยอ่ะ แต่ก็พอทนไม่มากพอ พอถึงท่าเรือ โชคดีอะไรจะปานนี้ เรือแล่นมาพอดี เข้ามาจอดเทียบท่า ผู้เขียนก็เลยรีบไปลงเรือ พร้อมกับไม่ลืมที่จะเตรียมตังค์สำหรับจ่ายให้กระเป๋าเรือ 12 บาท(พอดี)ถือไว้ในมือ.....แล้วเรือก็แล่นออกไปจากท่าเรือปิ่นฯ อย่างสบายใจ แต่เอ๋??? ไง๋แล่นผ่านท่าเรือพระอาทิตย์ล่ะ แย่แล้ว.....นี่เรามาอยู่ในเรือธงอะไรเนี่ย??? ตอนนี้มีอยู่ในใจ 2 ธง ไม่เขียวก็เหลืองแหละน่า พี่กระเป๋าเรืออยู่ไหนเนี่ย นี่ถ้าจ่ายตังค์ค่าโดยสารเรือ 12 บาทที่อยู่ในมือไปล่ะก็ คงจะหน้าแตก จนหมอไม่รับเย็บเป็นแน่เลย คิคิ เพราะมั่นใจมาก...ว่าเป็นเรือประจำทาง ...พลาดจนได้....

เรือด่วนพิเศษธงเขียว กำลังแล่นท่ามกลางสายน้ำปริมาณเยอะ
เรือด่วนพิเศษธงเขียว แล่นท่ามกลางสายน้ำเยอะและขุ่น

        จากนั้นท่าพระราม 8 ก็ไม่จอด มาลุ้นต่ออีกจะจอดท่าเรือเทเวศน์ไหมเนี่ย โอเคเข้าจอดเทียบท่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่านั่งเรือธงสีอะไรมา ฝนก็ตกหนักเรื่อยๆ แทบมองไม่เห็นริมฝั่งแม่น้ำ คิดในใจ อื่ม...ท่าต่อไปรู้แน่ เพราะท่าต่อไปนั่นคือ ท่าเรือซังฮี้ เพราะว่าหากเป็นเรือ ธงเขียวจะจอดที่ท่านี้ หากเป็นธงเหลืองจะไม่จอด และธงส้มนั้นตัดไปได้เลย เพราะธงส้มจะจอดที่ท่าพระอาทิตย์ (นี่ประสบการณ์ล้วนๆ...นั่งเรือผิดยังขี้คุยอีกแนะ ) ชัดเลย...แล่นผ่านสะพานซังฮี้ไปเฉยเลย นี่เราอยู่ในธงเหลืองหรือเนี่ย??? Oh แม่เจ้า !!! ต้องจ่ายตังค์เพิ่มอีก 8 บาทให้ครบ 20 บาท(ปรกติหากเป็นเรือประจำทางจ่ายเพียงแค่ 12 บาทเอง ) โอเค ยังพอไหวไปขึ้นเรือที่สะพานพระราม 7 ดีกว่า ค่อยไปต่อเรือประจำทางที่นั่นแหละ ยังดีที่ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก

        ระหว่างรอเรือประจำทางที่พระราม 7 (ฝั่งการไฟฟ้าฯ ถนนจรัญฯ) ฝนเริ่มซาลงแล้ว ก็สังเกตุเห็นอะไรหลายๆอย่าง โห...ทำไมเหตุการณ์คล้ายๆ ปีที่แล้วจัง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเยอะมาก ห่างจากระดับน้ำที่ท่วมของปีที่ผ่านมาแค่ประมาณ เมตรเดียวเอง(ที่ท่าเรือสะพานพระราม 7 จะมีระดับน้ำที่ท่วมปี 2554 บอกไว้ด้วย) จากเดิมระยะห่างร่วมๆ 2.5-3 เมตร สงสัยจะเอาไม่อยู่อีกแล้ว และบางที่ก็เริ่มสูบน้ำลงแม่น้ำกันแล้ว คล้ายๆปี 54 เป๊ะเลย ผักตบชวาก็เยอะแยะเต็มไปหมด รวมถึงขยะด้วย 

ป้ายบอกระดับน้ำท่วมปี 2554 ที่ท่าเรือสะพานพระราม 7
ระดับน้ำท่วมปี 2554

        ตอนเช้าที่นั่งเรือมาจอดเทียบท่าพิบูลย์สงคราม 1 (ใกล้ๆโรงเรียนสตรี นนทบุรี) สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโป๊ะกับท่าเรือน้ำเริ่มท่วมสะพานบางช่วงแล้วแหละ ใครที่เดินข้ามไปมาต้องคอยถอดรองเท้ากันให้วุ่น ลุยน้ำข้ามสะพาน ตอนเย็นก็ยังเหมือนเดิม พอมาถึงที่วัดตึก อีกแล้วน้ำเร่มเจิ่งบริเวณสะพานเชื่อมต่อโป๊ะอีกแล้ว ใกล้เคียงปีที่แล้วจัง เพราะก่อนที่น้ำจะท่วมกรุงเทพครั้งใหญ่ ก็เริ่มจากเหตุการณ์แบบนี้แหละน๊า

ปริมาณน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เยอะมาก และขุ่นอีกต่างหาก
ปริมาณน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา

        ด้วยความสงสัยพอกลับมาถึงบ้านเก็บข้าวของให้เรียบร้อย ก็แวะไปวัดตึกอีกรอบ โห... น้ำขึ้นเยอะกว่าเดิมซะอีก แถมยังซึมเข้ามาในวัดอีก สงสัยจะเข้ามาทางท่อระบายน้ำ นี่ถ้าเป็นปีที่แล้วนะ หากมีเหตุการณ์แบบนี้นับถอยหลังได้เลยไม่เกิน 1 เดือนท่วมแน่นอน

        บ่นมาซะยืดยาว....เอาน่าแค่บอกเล่าให้ระวังตัวกันเท่านั้นเองจ้า ไม่ต้องไปตกใจอะไรมากมายหรอก เตรียมๆตัวไว้บ้าง เผื่อฉุกเฉินก็พอจ้า ยังไงๆแล้วคนไทยทุกๆคนต้องปลอดภัยแน่นอน รวมทั้งผู้ที่โดยสารเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีน้ำท่วม อีกต่อไปจ้า

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ประกาศหยุดเดินเรือชั่วคราว ในพิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กรมเจ้าท่าประกาศหยุดเดินเรือชั่วคราว


        เนื่องจากกองทัพเรือได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ท่าวัดสุกรี ถึงท่าเรือวัดอรุณฯ เวลา 12.00น - 18.30น. ดังนั้นกรมเจ้าท่า จึงให้หยุดเดินเรือทุกประเภทรวมถึงเรือด่วนด้วยตั้งแต่เวลา 11.00น. - 20.00น. วันเวลาดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

1. ซ้อมย่อยครั้งที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555
2. ซ้อมย่อยครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555
3. ซ้อมย่อยครั้งที่ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2555
4. ซ้อมย่อยครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2555
5. ซ้อมย่อยครั้งที่ 5 ในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2555
6. ซ้อมย่อยครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2555
7. ซ้อมย่อยครั้งที่ 7 ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2555
8. ซ้อมย่อยครั้งที่ 8 ในวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2555
9. ซ้อมใหญ่ครั้งที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2555
10. ซ้อมใหญ่ครั้งที่ 2 ในวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2555
11. วันเสด็จฯจริง ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2555


        ซึ่งพื้นที่ที่ควบคุม ทิศเหนือ ตั้งแต่สะพานกรุงธนบุรีหรือสะพานซังฮี้ และทิศใต้ ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในคลองบางกอกน้อย ตั้งแต่สะพานอรุณอัมรินทร์ ถึงปากคลองบางกอกน้อย

 
        จึงให้ผู้ที่สัญจรทางเรือด่วน ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และวางแผนการเดินทางในวันและเวลาดังกล่าว มา ณ ที่นี้ด้วย

        ทางเรือด่วนอาจมีบริการเรือด่วนตั้งแต่ท่าเรือสะพานกรุงธนเป็นต้นไป จนถึงท่าน้ำนนท์(ยังไงแล้วหากมีการอัพเดทเรื่องนี้ จะรีบมาบอกกันให้ทราบโดยด่วน) 

เอกสารอ้างอิง ประกาศกรมเจ้าท่า

กรมเจ้าท่า ประกาศหยุดเดินเรือชั่วคราว ในพิธีฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ประกาศหยุดเดินเรือชั่วคราว ของกรมเจ้าท่า ในวันฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
        จากประกาศข้างต้นนี้ จะงดให้บริการเรือด่วนตามช่วงวันเวลาดังกล่าวที่มีการฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จะมีวิ่งอีกครั้งในช่วงเย็นๆ

Update ใหม่ 21 ก.ย. 2555 ประกาศจากเรือด่วนเจ้าพระยา



        จากประกาศของเรือด่วนเจ้าพระยาฉบับนี้ จะบอกให้รู้ว่าเรือด่วนเจ้าพระยาไม่มีวิ่งในวันและเวลาดังกล่าว(ส่วนวันอื่นๆที่มีการฝึกซ้อมขบวนฯ การเดินเรือก็น่าจะใกล้เคียงกับประกาศฉบับนี้ ซึ่งคราวต่อไปก็จะเป็นวันพฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2555 นะจ๊ะ) ถือว่างดให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาชั่วคราว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ จะมีวิ่งเรือเฉพาะช่วงเช้าๆถึงแค่ 11.00น. ทั้งขาขึ้น(เหนือ)และขาล่อง(ใต้) หลังจากนั้นจะหยุดวิ่งเรือ จะมีวิ่งอีกทีก็ช่วงเย็นๆ ตั้งแต่ 18.30น. และจะบริการเป็นบางช่วง เช่นเรือประจำทางจะมีวิ่งช่วง สะพานกรุงธนฯ - นนทบุรี เพิ่มเติม หากใครที่จะใช้บริการเรือด่วน ก็สามารถไปใช้ที่ท่าสะพานกรุงธนฯได้นะจ๊ะ  ส่วนธงเหลืองจะมีจากท่าราชวงศ์-ราษฎร์บูรณะ เพิ่มนะจ๊ะ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากตารางข้างบนและหากจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ในประกาศของเรือด่วน 081-487-2917, 085-063-5701 และ 081-773-6057 นะจ๊ะ
        และก็ขอให้ผู้ที่จะเดินทางด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา วางแผนการเดินทางให้ดี อาจนั่งรถเมล ไปต่อเรือตามจุดที่มีให้บริการ หรืออาจทางเส้นทางอื่นในการเดินทางนะจ๊ะ หรือใครที่อยากเห็นพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็แล้วแต่สะดวกนะจ๊ะ อย่าลืมพกร่มมาด้วยล่ะ 

        เพิ่มเติมเรื่องรถเมลจ้า หากจะเดินทางจากปิ่นเกล้ามาจังหวัดนนทบุรี ก็จะมีสาย 203 วิ่งเส้นจรัญฯ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง สาย 30 และ 64 วิ่งใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า(ฝั่งพระนคร) ไปทางท่าพระอาทิตย์ บางลำพู ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง อาจมีรถติดบ้างนะจ๊ะ


วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ซื้อตั๋วเรือด่วนธงเหลือง แล้วจะนั่งธงส้มได้ไหมเนี่ย?

อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งคนมักจะสงสัยกัน ว่าตั๋วธงเหลือง มันจะสามารถใช้กับเรือด่วนธงส้มได้ไหม?


         หลายๆคนอาจสงสัยในเรื่องของการซื้อตั๋วเรือด่วนแห่งแม่้ำเจ้าพระยา คล้ายๆกับบทความ
ทำไงดี ซื้อตั๋วเรือธงส้มไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจจะนั่งธงเหลือง?ที่ผ่านมา ก็ใช้หลักการคล้ายๆกันได้ เพียงแต่เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าตั๋วเรือเท่านั้นเอง 

รูปตัวอย่างตั๋วเรือธงเหลือง ราคา 20 บาท
ตั๋วเรือด่วนธงเหลือง ราคา 20 บาท

         กรณีที่เราได้ซื้อตั๋วเรือด่วนธงเหลืองเอาไว้แล้ว แต่รอแล้วเรือธงเหลืองแล้วไม่มาซะกะที ธงส้มกำลังแล่นใกล้เข้ามา บังเอิญเป็นคนที่ไม่ชอบการรอคอยอะไรที่นานๆ ไปกับธงส้มก็ได้ แต่...จะนั่งเรือธงส้มได้ไหมเนี่ย??? อันนี้ไม่ต้องรีรอเลยจ้า ถ้ารีบแล้ว ก็นั่งเรือธงส้มได้เลยจ้า เพียงแต่ว่าเราจะไม่ได้เงินคืน ส่วนต่าง 5 บาท ธงเหลืองจะแพงกว่าธงส้ม 5 บาท(อ้างอิงจากบทความประเภทของตั๋วเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา) ไม่ต้องไปโวยวายกับพนักงานเก็บตั๋วเรือนะจ๊ะ เพราะถือว่าเราตัดสินใจซื้อในราคาที่แพงไปแล้ว แต่เรามีสิทธิในการนั่งเรือด่วนธงสีอะไรก็ได้แบบฟรีๆไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม(ยกเว้นเรือด่วนธงแดงและธงเขียวที่จะไปปากเกร็ดนะจ๊ะ 2 ประเภทนี้ต้องเพิ่มเงินตามส่วนต่าง สำหรับเรือด่วนธงแดงจ่ายเพิ่มอีก 10 บาท(ครบ 30 บาทพอดี) ส่วนเรือด่วนธงเขียวจ่ายเพิ่มตามระยะทาง หากระยะทางเท่ากับธงเหลือง ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก แต่ถ้าระยะทางยิงยาวไปถึงอำเภอปากเกร็ดล่ะก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 12 บาท(ครบ 32 บาท)นะจ๊ะ)

         สรุปสั้นๆได้ว่า ตั๋วเรือธงเหลืองราคา 20 บาท นอกเหนือจากใช้บริการเรือธงเหลืองแล้ว ยังสามารถใช้ได้กับเรือธงส้มและเรือประจำทางได้นะจ๊ะ โดยไม่ต้องจ่ายตังค์เพิ่ม หากจะใช้บริการเรือด่วนธงแดงและธงเขียว(ที่จะเดินทางไปปากเกร็ด)จะต้องจ่ายตังค์เพิ่มตามส่วนต่างนั่นเองจ้า

         คราวต่อไป expressboat เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีอะไรมาฝากให้อ่านกันอีก ลองติดตามดูนะจ๊ะ อย่าลืม...ไปลองดูว่าการนั่งเรือนั้น บรรยากาศจะดีขนาดไหน สบายใจจัง ไม่เครียดเหมือนรถติด ลองแล้วจะติดใจ.....
เดินทางไปกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปลอดภัย บรรยากาศดี ไม่เครียด

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำไงดี ซื้อตั๋วเรือธงส้มไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจจะนั่งธงเหลือง?

มีตั๋วธงส้มแล้วจะนั่งธงเหลืองได้ไหม


หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ต้องตกใจจ้า ทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอๆจ้า 

ตั๋วเรือธงส้ม+เพิ่มเงินอีก 5 บาท จะได้ตั๋ว 2 ใบ สำหรับนั่งเรือธงเหลือง
ตั๋ว  2 ใบ ราคา 5 บาท + 15 บาท สำหรับนั่งธงเหลือง

        ถ้าเราเกิดเปลี่ยนใจกระทันหันหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องใหญ่อยู่แล้ว จิ๊บๆ ไม่ต้องไปซื้อตั๋วใหม่ และไม่ต้องไปขอเปลี่ยนตั๋วจากคนขายให้วุ่นวายหรอกจ้า จริงๆผู้เขียนใช้เทคนิคซื้อตั๋วเรือธงส้มเอาไว้ก่อนเสมอๆ แต่ซื้อในราคา 12 บาทนะ (ยังจำเรื่องราวของเอไอเอส ลดค่าเรือด่วนได้ใช่ไหมจ๊ะ เพราะยังไงแล้วผู้เขียนก็นั่งเรือประจำทางเป็นประจำอยู่แล้ว เสียค่าตั๋วเรือประจำทางก็ 12 บาทอยู่ดี หากวันไหนเปลี่ยนใจอยากไปเที่ยวท่าน้ำนนท์ฯ เราก็สามารถนั่งเรือธงส้ม(ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม)หรือธงเหลืองได้แค่จากเพิ่มอีก 5 บาทในเรือ) เราไม่ต้องทำอะไรมากมายหรอกจ้า แค่เตรียมเงินเพิ่มอีก 5 บาท บวกกับตั๋วอันเดิมของเรา เท่านี้เองจ้า แถมเรายังได้ตั๋วเรือในราคา 5 บาทเพิ่มอีก 1 ใบ  (หลายคนคงไม่ค่อยได้เห็นตั๋วราคา 5 บาท จริงๆราคาตั๋วมีหลายๆราคานะจ๊ะ ไม่ใช่จะมีแค่ตั๋วราคาปรกติ อย่างที่เคยนั่งแค่เรือประจำทาง หรือธงส้ม หรือธงเหลือง หรือธงเขียว ยังมีตั๋วเรือราคาต่างๆอีกหลายราคานะจ๊ะ )

ตัวอย่าง รูปตั๋วเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ราคา 5 บาท
ซื้อตั๋วเรือธงส้มแต่นั่งเรือธงเหลือง เพิ่มค่าตั๋วเรือราคา 5 บาท

        จริงๆแล้วหากมีปัญหาเรื่องการนั่งเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าหรือพนักงานขายตั๋วก็ได้จ้า จะได้ไม่ต้องกังวลหรือทำอะไรแบบผิดๆถูกๆนะจ๊ะ อีกทั้งยังมีบล็อก expressboat.blogspot ที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องการเดินทางด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะจ๊ะ

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

การนั่งเรือต่อเรือ

ใครอยากรู้ การนั่งเรือต่อเรือ ทำยังไง? เร่เข้ามาเลยจ้า


         วันนี้ Chaophraya Express Boat จะมาแนะนำท่านผู้อ่านทุกท่านที่เดินทางไปกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งประจำและไม่ประจำ ว่าการนั่งเรือต่อเรือนั้นเป็นอย่างไร

         จากบทความ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat ที่ผ่านมา เคยรับปากไว้ว่าจะมาเล่าเรื่องการนั่งเรือต่อเรือ(น๊านนานจนเกือบจะลืม) ที่บอกว่าการนั่งเรือต่อเรือนั้นหมายความว่า ถ้ากรณีที่เรามาไม่ทันเรือโดยสารประจำทางหรือเรือด่วนธงส้ม พูดง่ายว่าตกเรืองั้นเถอะน๊ะ(ไม่ใช่ตกน้ำนะจ๊ะ) เพิ่งไปก่อนหน้าเราแป๊บเดียว เห็นหลังไวๆ

         อันนี้พอมีทางแก้ไขเช่น หากเรามาไม่ทันเรือประจำทาง แต่บังเอิญมีเรือด่วนพิเศษธงส้มมาพอดี(ไล่หลังมาติดๆ) เราก็สามารถนั่งเรือธงส้มได้ แต่อย่าลืมใช้
สิทธิของเอไอเอสนะ เพราะเราจะได้จ่ายในราคา 12 บาท(จาก 15 บาท) อิอิ ประหยัดจ้า เก็บตั๋วไว้ให้ดีๆนะจ๊ะ เราก็นั่งเรือธงส้ม พอเรือธงส้มแล่นไปสักพักหนึ่ง ก็จะสามารถแซงเรือประจำทางได้ เพราะธงส้มจอดน้อยกว่า เราก็ขึ้นเรือ(ออกจากเรือ)ป้ายหน้า(ขึ้นท่าหน้า)ได้ พอเรือประจำทางแล่นมาถึงและจอดเทียบท่าเราก็สามารถนั่งเรือประจำทางต่อได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม(อันนี้แหละสำคัญ) ไม่ต้องเสียตังค์สักกะบาท แค่เอาตั๋วอันเดิมยื่นให้กระเป๋าเรือดูเท่านั้นเองจ้า นี่แหละเค้าเรียกว่านั่งเรือต่อเรือจ้า


หลักการนี้สามารถนำไปใช้ต่อได้ กับเรือธงอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน

         เหตุผลที่ทำแบบนี้ได้เนื่องจาก ท่าเรือบางท่าเรือ เรือแต่ละประเภทจอดไม่เหมือนกัน จะมีประโยชน์มากๆ หากเราต้องการไปยังท่าเรือเล็กๆ แต่โดยสารเรือด่วนธงส้มหรือธงเหลือง ซึ่งไม่จอดท่าเล็กนั่นเอง

         อย่าลืมเอาหลักการอันนี้ไปใช้ในการโดยสารเรือนะจ๊ะ ไม่ต้องจ่ายตังค์ใหม่ สบายกระเป๋า เก็บเงินเอาไว้ซื้อข้าวและขนมดีกว่านะจ๊ะ

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความพร้อมของชูชีพในเรือด่วน

ตำแหน่งที่เก็บของอุปกรณ์ชูชีพต่างๆ


         วันนี้เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะพามาดูข้างในเรือ ว่ามีอุปกรณ์ชูชีพอยู่ที่ตำแหน่งไหนบ้าง เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ไม่ต๊กกะใจ ทำอะไรไม่ถูก เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุนะจ๊ะ


ตำแหน่งติดตั้งห่วงยางชูชีพ อยู่ที่เพดานเรือด่วน
ห่วงยางชูชีพ ติดตั้งไว้ที่เพดานของเรือประจำทาง


        ภายในเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีห่วงยางชูชีพ สีแดงคาดสลับกับสีขาว จะถูกแขวนไว้ข้างบนเพดานของเรือ ตามความยาวของเรือเป็นจุดๆ ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา


บอร์ดชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน
เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน ของเรือประจำทาง


         ด้านใต้ที่ม้านั่งของผู้โดยสารแต่ละทีนั่ง จะมีเบาะชูชีพสีส้มเสียบไว้ใต้เบาะของคนนั่งของแต่ละคน (อันนี้ของใครของมันนะจ๊ะ หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ไม่ต้องไปแย่งของคนนั่งหน้า หรือคนข้างๆนะจ๊ะ ตั้งสติให้ดีๆ แล้วจะปลอดภัยจ้า) ง่ายๆแค่เราก้มลงไป แล้วดึงขึ้นมา 

วิธี เบาะชูชีพ
วิธีใช้เบาะหรือบอร์ดชูชีพ

โดยที่เบาะชูชีพจะมีคำอธิบายการใช้งานเอาไว้แล้ว(หากว่างๆ ลองล้วงขึ้นมาแล้วอ่านดูนะจ๊ะ เสร็จแล้วอย่าลืมเก็บให้เข้าที่ ที่เดิมด้วยจ้า) โดยคำอธิบายให้สอดแขนทั้งสองข้างของเราเข้ากับสายที่ผูกกับเบาะชูชีพเข้ากับอกของเรา(ลักษณะสอดแขนแล้วกอดไว้) อ้อแล้วที่ด้านหลังของเก้าอี้ตัวที่อยู่หน้าเรา จะเขียนบอกไว้ว่า "เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน LIFE FLOAT UNDER YOUR SEAT" 

บอร์ดชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน ด้านหลังที่นั่ง
ด้านหลังเก้าอี้ตัวที่อยู่ด้านหน้าเรา เขียนว่า เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน

มีภาษาอังกฤษด้วย ให้ชาวต่างชาติเค้าอ่านแล้วรู้เรื่องด้วยนะเนี่ย ว่าแต่ว่าตกลงจะเป็นคำว่า "เบาะชูชีพ" หรือ "บอร์ดชูชีพ" กันแน่เนี่ย อิอิ อันนี้คงไม่ว่ากัน ถือว่าใช้ได้ทั้งสองแหละน๊ะ


ตู้เก็บเบาะชูชีพด้านท้ายเรือ เหนือเครื่องยนต์
ตู้เก็บเบาะชูชีพด้านท้ายของเรือ เพดานเหนือเครื่องยนต์ของเรือประจำทาง


         ด้านท้ายของเรือ เพดานเรือเหนือเครื่องยนต์ จะมีที่สำหรับเก็บเบาะชูชีพ เพิ่มอีก สามารถเปิดออกได้โดยง่ายเพียงปลดกลอนทั้งสองข้างออก ก็สามารถเปิดฝา(ทิศทางลง)นำิออกมาใช้งานได้

         รู้อย่างนี้แล้วเราๆท่านๆที่นิยมโดยสารกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้มีความมั่นใจในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพราะทาง กรมเจ้าท่าและเจ้าของเรือด่วนเค้าค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนี้ โดยให้ืำการตรวจเช็คอุปกรณ์ชูชีพอย่างเป็นประจำ เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอๆ หากมีการชำรุดหรือเก่าแล้วจะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ชูชีพใหม่ทันที

         ในคราวต่อไป ExpressBoat จะมีอะไรมาฝากชาวเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาอีก ติดตามต่อนะจ๊ะ ขอขอบคุณ ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วยจ้า

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งดจอดเทียบท่าเรือ วัดสร้อยทอง 1 วัน

ประกาศจากเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา


        เนื่องจากเสากันโป๊ะ ที่ท่าเรือวัดสร้อยทองชำรุด เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและการจอดเทียบท่า ของเรือด่วน ทาง บ.เรือด่วน จะทำการแก้ไขแทนเสาที่ชำรุด จึงงดจอดเทียบท่าเรือดังกล่าว 1 วัน ในวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555 นี้ 

        เรือที่ผลต่อการจอดเทียบท่าที่ท่าเรือวัดสรอยทองได้แก่ เรือด่วนพิเศษธงส้ม และเรือประจำทาง ดังนั้นผู้โดยสารที่จะขึ้น-ลง ที่ท่าดังกล่าว ให้ไปใช้ท่่าเรือ พิบูลสงคราม 1 หรือ ท่าเรือเกียกกาย แทน โดยอาจจะต้องใช้บริการรถเมล สาย 33 หรือ 90 ต่อ ขอให้วางแผนกันให้ดีๆนะจ๊ะ จะได้ไม่ งง และ วุ่นวายในช่วงเวลาเร่งรีบจ้า


Update ใหม่จ้า 24 สิงหาคม 2555

         ยังยกเลิกการจอดเทียบท่าเรือวัดสร้อยทองต่อนะจ๊ะ เนื่องจากการซ่อมแซมยังไม่แล้วเสร็จ หากเสร็จแล้วเมื่อไหร่จะมาแจ้งให้ทราบนะจ๊ะ


Update ใหม่ล่าสุด วันเสาร์ ที่25 สิงหาคม 2555

         ทาง บ.เรือด่วน ได้ทำการแก้ไขเชื่อมเสาช่วงบนที่ชำรุดเสร็จแล้ว(คิดว่าน่าจะชั่วคราว อาจมีการซ่อมใหญ่อีกครั้ง ยังไงจะรายงานให้ทราบโดยทั่วกัน) ตอนนี้เรือสามารถจอดเทียบ ท่าเรือวัดสร้อยทองได้แล้วนะจ๊ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก expressboat จ้า


อยากรู้เรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่า

ข้อมูลเรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่าเรือ        


         หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเรือจะมากี่โมงบ้าง ท่าเืรือแต่ละท่าเรือเนี่ยเรือจะแล่นมาตอนไหนบ้าง วันนี้ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีข้อมูลเรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่าเรือต่างๆ สำหรับใครที่จะนั่งเรือประจำทาง จะได้ไม่ต้องกังวลว่าเรือจะมาเทียบท่าเมื่อใด จะรอนานไหม เอาแบบว่า สบายๆไงจ๊ะ จัดไปเลยจ้า


เรือประจำทางช่วงเช้า ที่ท่าเรือใหญ่ๆสำคัญดังนี้จ้า

ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวแรก ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 06.45 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 06.53 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.03 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.13 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.16 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 07.20 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 07.25 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 07.32 น.
ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 07.37 น.



ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวที่สอง ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 07.15 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 07.20 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.30 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.40 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.43 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 07.48 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 07.53 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 08.00 น.
ถึงท่าเรือศิริราช หรือ ท่าวังหลัง เวลาประมาณ 08.05 น.


ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวที่สาม เที่ยวสุดท้าย ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 07.30 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 07.35 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.45 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.55 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.58 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 08.03 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 08.08 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 08.15 น.
ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 08.20 น.


ช่วงเย็นเรือประจำทางเที่ยวที่สอง เที่ยวสุดท้าย ออกจากท่าสาทร 16.30 น.

ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 17.05 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 17.10 น.
ถึงท่าเรือพระอาทิตย์ เวลาประมาณ 17.12 น.
ถึงท่าเรือพระราม 8 (ฝั่งวิสุทธิกษัตริย์) เวลาประมาณ 17.13 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 17.15 น.
ถึงท่าเรือสะพานกรุงธนบุรี หรือสะพานซังฮี้ เวลาประมาณ 17.19 น.
ถึงท่าเรือวัดเทพนารี เวลาประมาณ 17.21 น.
ถึงท่าเรือวัดเทพากร เวลาประมาณ 17.22 น.
ถึงท่าเรือพายัพ เวลาประมาณ 17.24 น.
ถึงท่าเรือกรมชลประทาน เวลาประมาณ 17.25 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 17.27 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 17.31 น.
ถึงท่าเรือวัดสร้อยทอง เวลาประมาณ 17.36 น.
ถึงท่าเรือสะพานพระราม 7 เวลาประมาณ 17.37 น.
ถึงท่าเรือพิบูลสงคราม 1 เวลาประมาณ 17.41 น.
ถึงท่าเรือวัดเขมา เวลาประมาณ 17.44 น.
ถึงท่าเรือวัดตึก เวลาประมาณ 17.46 น.
ถึงท่าเรือวัดเขียน เวลาประมาณ 17.48 น.
ถึงท่าเรือสะพานพระราม 5 (ฝั่งหอนาฬิกา จ.นนทบุรี อีกชื่อว่า พิบูลสงคราม 2) เวลาประมาณ 17.50 น.
ถึงท่าเรือท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี (พิบูลสงคราม 3) โดยสวัสดิภาพ เวลาประมาณ 17.55 น.   



        สำหรับเรือประจำทางเที่ยวแรกของตอนเย็นนั้น ออกจากท่าเรือสาทร เวลา 16.00 น. นั้น ผู้เขียนไม่ได้เขียนลงมาในบทความนี้ อันนี้ไม่ต้องถามหา ว่าเที่ยวแรกของตอนเย็นหายไปไหนล่ะ อธิบายสั้นๆได้ว่า ผู้เขียนมาไม่ทันเรือเที่ยวแรกนี้ อิอิ เลยไม่แน่ใจเรื่องเวลาอ่ะน๊ะ เนี่ย เรือเที่ยวสุดท้ายผู้เขียนยังต้องวิ่งไปนั่งเรือบ่อยๆ แทบไม่ทัน ต้อง High Speed ตาหล๊อดๆ  วันไหนหากมีโอกาสได้นั่งเที่ยวแรกทันจะมาอัพเดทให้นะจ๊ะ และก็ส่วนท่าเรือที่เหลือ ตั้งแต่ท่าเรือศิริราช ลงไปทางใต้(สาทร) เอาไว้ว่างๆผู้เขียนนั่งเรือประจำทางไปแถวนั้นก่อนน๊ะ แล้วจะมาอัพเดทใหม่จ้า(ติดไว้ หลายเรื่องจัง)

        เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนที่สัญจรทางน้ำกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้เตรียมการทัน ไม่ต้องรอเรือนานไงจ๊ะ ส่วนเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เต็มที่ บวก ลบ ไม่เกิน 5 นาทีจ้า และจะให้ดี เราก็ควรมาถึงก่อนสัก 5 นาทีนะจ๊ะ จะได้ไม่พลาด รอบเรือ แต่ละเที่ยวยังไงล่ะ