วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความพร้อมของชูชีพในเรือด่วน

ตำแหน่งที่เก็บของอุปกรณ์ชูชีพต่างๆ


         วันนี้เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะพามาดูข้างในเรือ ว่ามีอุปกรณ์ชูชีพอยู่ที่ตำแหน่งไหนบ้าง เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ไม่ต๊กกะใจ ทำอะไรไม่ถูก เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุนะจ๊ะ


ตำแหน่งติดตั้งห่วงยางชูชีพ อยู่ที่เพดานเรือด่วน
ห่วงยางชูชีพ ติดตั้งไว้ที่เพดานของเรือประจำทาง


        ภายในเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีห่วงยางชูชีพ สีแดงคาดสลับกับสีขาว จะถูกแขวนไว้ข้างบนเพดานของเรือ ตามความยาวของเรือเป็นจุดๆ ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา


บอร์ดชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน
เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน ของเรือประจำทาง


         ด้านใต้ที่ม้านั่งของผู้โดยสารแต่ละทีนั่ง จะมีเบาะชูชีพสีส้มเสียบไว้ใต้เบาะของคนนั่งของแต่ละคน (อันนี้ของใครของมันนะจ๊ะ หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ไม่ต้องไปแย่งของคนนั่งหน้า หรือคนข้างๆนะจ๊ะ ตั้งสติให้ดีๆ แล้วจะปลอดภัยจ้า) ง่ายๆแค่เราก้มลงไป แล้วดึงขึ้นมา 

วิธี เบาะชูชีพ
วิธีใช้เบาะหรือบอร์ดชูชีพ

โดยที่เบาะชูชีพจะมีคำอธิบายการใช้งานเอาไว้แล้ว(หากว่างๆ ลองล้วงขึ้นมาแล้วอ่านดูนะจ๊ะ เสร็จแล้วอย่าลืมเก็บให้เข้าที่ ที่เดิมด้วยจ้า) โดยคำอธิบายให้สอดแขนทั้งสองข้างของเราเข้ากับสายที่ผูกกับเบาะชูชีพเข้ากับอกของเรา(ลักษณะสอดแขนแล้วกอดไว้) อ้อแล้วที่ด้านหลังของเก้าอี้ตัวที่อยู่หน้าเรา จะเขียนบอกไว้ว่า "เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน LIFE FLOAT UNDER YOUR SEAT" 

บอร์ดชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน ด้านหลังที่นั่ง
ด้านหลังเก้าอี้ตัวที่อยู่ด้านหน้าเรา เขียนว่า เบาะชูชีพอยู่ใต้ที่นั่งของท่าน

มีภาษาอังกฤษด้วย ให้ชาวต่างชาติเค้าอ่านแล้วรู้เรื่องด้วยนะเนี่ย ว่าแต่ว่าตกลงจะเป็นคำว่า "เบาะชูชีพ" หรือ "บอร์ดชูชีพ" กันแน่เนี่ย อิอิ อันนี้คงไม่ว่ากัน ถือว่าใช้ได้ทั้งสองแหละน๊ะ


ตู้เก็บเบาะชูชีพด้านท้ายเรือ เหนือเครื่องยนต์
ตู้เก็บเบาะชูชีพด้านท้ายของเรือ เพดานเหนือเครื่องยนต์ของเรือประจำทาง


         ด้านท้ายของเรือ เพดานเรือเหนือเครื่องยนต์ จะมีที่สำหรับเก็บเบาะชูชีพ เพิ่มอีก สามารถเปิดออกได้โดยง่ายเพียงปลดกลอนทั้งสองข้างออก ก็สามารถเปิดฝา(ทิศทางลง)นำิออกมาใช้งานได้

         รู้อย่างนี้แล้วเราๆท่านๆที่นิยมโดยสารกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้มีความมั่นใจในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพราะทาง กรมเจ้าท่าและเจ้าของเรือด่วนเค้าค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนี้ โดยให้ืำการตรวจเช็คอุปกรณ์ชูชีพอย่างเป็นประจำ เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอๆ หากมีการชำรุดหรือเก่าแล้วจะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ชูชีพใหม่ทันที

         ในคราวต่อไป ExpressBoat จะมีอะไรมาฝากชาวเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาอีก ติดตามต่อนะจ๊ะ ขอขอบคุณ ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วยจ้า

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งดจอดเทียบท่าเรือ วัดสร้อยทอง 1 วัน

ประกาศจากเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา


        เนื่องจากเสากันโป๊ะ ที่ท่าเรือวัดสร้อยทองชำรุด เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและการจอดเทียบท่า ของเรือด่วน ทาง บ.เรือด่วน จะทำการแก้ไขแทนเสาที่ชำรุด จึงงดจอดเทียบท่าเรือดังกล่าว 1 วัน ในวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555 นี้ 

        เรือที่ผลต่อการจอดเทียบท่าที่ท่าเรือวัดสรอยทองได้แก่ เรือด่วนพิเศษธงส้ม และเรือประจำทาง ดังนั้นผู้โดยสารที่จะขึ้น-ลง ที่ท่าดังกล่าว ให้ไปใช้ท่่าเรือ พิบูลสงคราม 1 หรือ ท่าเรือเกียกกาย แทน โดยอาจจะต้องใช้บริการรถเมล สาย 33 หรือ 90 ต่อ ขอให้วางแผนกันให้ดีๆนะจ๊ะ จะได้ไม่ งง และ วุ่นวายในช่วงเวลาเร่งรีบจ้า


Update ใหม่จ้า 24 สิงหาคม 2555

         ยังยกเลิกการจอดเทียบท่าเรือวัดสร้อยทองต่อนะจ๊ะ เนื่องจากการซ่อมแซมยังไม่แล้วเสร็จ หากเสร็จแล้วเมื่อไหร่จะมาแจ้งให้ทราบนะจ๊ะ


Update ใหม่ล่าสุด วันเสาร์ ที่25 สิงหาคม 2555

         ทาง บ.เรือด่วน ได้ทำการแก้ไขเชื่อมเสาช่วงบนที่ชำรุดเสร็จแล้ว(คิดว่าน่าจะชั่วคราว อาจมีการซ่อมใหญ่อีกครั้ง ยังไงจะรายงานให้ทราบโดยทั่วกัน) ตอนนี้เรือสามารถจอดเทียบ ท่าเรือวัดสร้อยทองได้แล้วนะจ๊ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก expressboat จ้า


อยากรู้เรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่า

ข้อมูลเรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่าเรือ        


         หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเรือจะมากี่โมงบ้าง ท่าเืรือแต่ละท่าเรือเนี่ยเรือจะแล่นมาตอนไหนบ้าง วันนี้ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีข้อมูลเรื่องเวลา ที่เรือประจำทางมาจอดเทียบท่าเรือต่างๆ สำหรับใครที่จะนั่งเรือประจำทาง จะได้ไม่ต้องกังวลว่าเรือจะมาเทียบท่าเมื่อใด จะรอนานไหม เอาแบบว่า สบายๆไงจ๊ะ จัดไปเลยจ้า


เรือประจำทางช่วงเช้า ที่ท่าเรือใหญ่ๆสำคัญดังนี้จ้า

ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวแรก ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 06.45 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 06.53 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.03 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.13 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.16 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 07.20 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 07.25 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 07.32 น.
ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 07.37 น.



ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวที่สอง ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 07.15 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 07.20 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.30 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.40 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.43 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 07.48 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 07.53 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 08.00 น.
ถึงท่าเรือศิริราช หรือ ท่าวังหลัง เวลาประมาณ 08.05 น.


ช่วงเช้าเรือประจำทางเที่ยวที่สาม เที่ยวสุดท้าย ออกจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 07.30 น.

ถึงท่าเรือวัดตึก(ท่านี้แถมให้จ้า) เวลาประมาณ 07.35 น.
ถึงท่าเรือพระราม 7 เวลาประมาณ 07.45 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 07.55 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 07.58 น.
ถึงท่าเรือซังฮี้ ( สะพานกรุงธนบุรี ) เวลาประมาณ 08.03 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 08.08 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 08.15 น.
ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 08.20 น.


ช่วงเย็นเรือประจำทางเที่ยวที่สอง เที่ยวสุดท้าย ออกจากท่าสาทร 16.30 น.

ถึงท่าเรือศิริราช เวลาประมาณ 17.05 น.
ถึงท่าเรือปิ่นเกล้า เวลาประมาณ 17.10 น.
ถึงท่าเรือพระอาทิตย์ เวลาประมาณ 17.12 น.
ถึงท่าเรือพระราม 8 (ฝั่งวิสุทธิกษัตริย์) เวลาประมาณ 17.13 น.
ถึงท่าเรือเทเวศน์ เวลาประมาณ 17.15 น.
ถึงท่าเรือสะพานกรุงธนบุรี หรือสะพานซังฮี้ เวลาประมาณ 17.19 น.
ถึงท่าเรือวัดเทพนารี เวลาประมาณ 17.21 น.
ถึงท่าเรือวัดเทพากร เวลาประมาณ 17.22 น.
ถึงท่าเรือพายัพ เวลาประมาณ 17.24 น.
ถึงท่าเรือกรมชลประทาน เวลาประมาณ 17.25 น.
ถึงท่าเรือเขียวไข่กา เวลาประมาณ 17.27 น.
ถึงท่าเรือเกียกกาย เวลาประมาณ 17.31 น.
ถึงท่าเรือวัดสร้อยทอง เวลาประมาณ 17.36 น.
ถึงท่าเรือสะพานพระราม 7 เวลาประมาณ 17.37 น.
ถึงท่าเรือพิบูลสงคราม 1 เวลาประมาณ 17.41 น.
ถึงท่าเรือวัดเขมา เวลาประมาณ 17.44 น.
ถึงท่าเรือวัดตึก เวลาประมาณ 17.46 น.
ถึงท่าเรือวัดเขียน เวลาประมาณ 17.48 น.
ถึงท่าเรือสะพานพระราม 5 (ฝั่งหอนาฬิกา จ.นนทบุรี อีกชื่อว่า พิบูลสงคราม 2) เวลาประมาณ 17.50 น.
ถึงท่าเรือท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี (พิบูลสงคราม 3) โดยสวัสดิภาพ เวลาประมาณ 17.55 น.   



        สำหรับเรือประจำทางเที่ยวแรกของตอนเย็นนั้น ออกจากท่าเรือสาทร เวลา 16.00 น. นั้น ผู้เขียนไม่ได้เขียนลงมาในบทความนี้ อันนี้ไม่ต้องถามหา ว่าเที่ยวแรกของตอนเย็นหายไปไหนล่ะ อธิบายสั้นๆได้ว่า ผู้เขียนมาไม่ทันเรือเที่ยวแรกนี้ อิอิ เลยไม่แน่ใจเรื่องเวลาอ่ะน๊ะ เนี่ย เรือเที่ยวสุดท้ายผู้เขียนยังต้องวิ่งไปนั่งเรือบ่อยๆ แทบไม่ทัน ต้อง High Speed ตาหล๊อดๆ  วันไหนหากมีโอกาสได้นั่งเที่ยวแรกทันจะมาอัพเดทให้นะจ๊ะ และก็ส่วนท่าเรือที่เหลือ ตั้งแต่ท่าเรือศิริราช ลงไปทางใต้(สาทร) เอาไว้ว่างๆผู้เขียนนั่งเรือประจำทางไปแถวนั้นก่อนน๊ะ แล้วจะมาอัพเดทใหม่จ้า(ติดไว้ หลายเรื่องจัง)

        เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนที่สัญจรทางน้ำกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้เตรียมการทัน ไม่ต้องรอเรือนานไงจ๊ะ ส่วนเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เต็มที่ บวก ลบ ไม่เกิน 5 นาทีจ้า และจะให้ดี เราก็ควรมาถึงก่อนสัก 5 นาทีนะจ๊ะ จะได้ไม่พลาด รอบเรือ แต่ละเที่ยวยังไงล่ะ

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

AIS เอไอเอสลดค่าเรือ ในการโดยสารเรือด่วนพิเศษธงส้มและธงเหลือง

AIS เอไอเอสลดค่าเรือ ในการโดยสารเรือด่วนพิเศษธงส้มและธงเหลือง

AIS ลดค่าเรือด่วน 3 บาท
เอไอเอส ลดค่าเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

    ข่าวดีสำหรับผู้ที่ใช้โทรศัพท์เครือข่ายของเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็น GSM ( จีเอสเอ็ม ), One-2-call (วัน ทู คอล) หรือ สวัสดี หากผู้อ่านท่านจะใช้บริการเรือด่วนธงส้มหรือธงเหลือง ก่อนซื้อตั๋วเรือด่วนพิเศษธงส้ม หรือธงเหลือง เพียงแค่ กด *545*151# แล้วโทรออก จากนั้นทางเอไอเอสเค้าจะส่งรหัสมายังโทรศัพท์มือถือเรา แค่นี้เราก็ได้ส่วนลดค่าเรือด่วน 3 บาท แล้วจ้า หากใครใช้บริการบ่อยๆ ก็บันทึกเบอร์นี้ลงเครื่องเลยจ้า  เป็นบริการฟรีจ้า ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นจ้า ตัวผู้เขียนเองจ่ายเป็นรายเดือน ก็ใช้บริการแบบนี้ทุกๆครั้ง ที่มีโอกาสได้นั่งเรือ ธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียวก็ได้นะจ๊ะ ( ธงเขียวที่ราคา 20 บาท ใช้บริการนี้ได้จ้า ) ช่วยประหยัด เยอะเลยน๊ะ ลองคิดดูเที่ยวละ 3 บาท 20 เที่ยว ก็ 60 บาทเลยนะจ๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเติมเงิน หรือรายเดือนก็ใช้ได้นะจ๊ะ


เอไอเอส ลดค่าตั๋วโดยสารเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา
AIS ลดค่าตั๋วโดยสารเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

    สามารถใช้บริการแบบนี้ได้เฉพาะท่าเรือที่มีพนักงานขายตั๋วเรือ ประจำที่ท่าเรือนะจ๊ะ (ส่วนมากมีเฉพาะท่าเรือใหญ่ๆเท่านั้น) แค่เราบอกรหัสที่ได้จาก sms ให้พนักงานขายตั๋ว
ก็จะได้ส่วนลดแล้ว 3 บาทจ้า

ท่าเรือที่ร่วมบริการ
  • ท่าน้ำนนท์
  • ท่าเรือพระรามเจ็ด
  • ท่าเรือสะพานกรุงธนบุรี หรือ สะพานซังฮี้
  • ท่าเรืิอเทเวศน์
  • ท่าเรือปิ่นเกล้า
  • ท่าเรือศิริราช / วังหลัง

    ส่วนท่าเรือไปทางสาทรนั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ท่าไหนมีบริการแบบนี้บ้าง หากมีโอกาสจะมาอัพเดท ให้นะจ๊ะ แต่ให้สังเกต ท่าเรือที่มีเรือด่วนธงเหลือง จอดเทียบท่าแหละจ้า มีบริการแบบนี้ชัวร์ๆ
หากไม่แน่ใจลองสอบถามกับทางพนักงานขายตั๋วก่อนนะจ๊ะ ว่าสามารถใช้เอไอเอสลดค่าเรือด่วนได้ไหม ?

    อย่าลืมไปใช้บริการกันนะจ๊ะ ของฟรีๆแบบนี้ อ้อ บริการฟรีๆแบบนี้ เดือนหนึ่งใช้ได้แค่ 20 ครั้งเองนะจ๊ะ อิอิ ใน sms จะบอกว่าครบจำนวนแล้ว หลังจากนั้นจ่ายเต็มราคาเหมือนเดิมจ้า



    อย่าลืมนะจ๊ะ สำหรับท่านใดที่จะใช้บริการเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นลูกค้าของ AIS : เอไอเอส กด  *545*151#  แล้วโทรออก  ลดค่าตั๋ว 3 บาท จ้า ปัจจุบัน(25 ธันวาคม 2555)ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 300 บาทขึ้นไปนะจ๊ะ ถึงจะใช้ลดค่าเรือด่วนได้จ้า


บทความต่อไป เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีอะไรดีๆมาฝาก ติดตามกันต่อนะจ๊ะ

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บริการเรือด่วนแบบใหม่ เรือด่วนพิเศษธงแดง ของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

เรือด่วนพิเศษลำใหม่ เรือด่วนธงแดง

เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ธงแดง
เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ธงแดง

         อ้าวๆ เห็นแบบนี้แล้วไม่ต้อง งงๆ กันหรอกจ้า ว่ามีด้วยหรือ??? อันนี้ มีจริงๆจ้า สำหรับเรือด่วนพิเศษ ธงแดง จากข่าวสารของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ออกมาแล้วจ้า ว่าเร็วๆนี้จะมีเรือด่วนพิเศษแบบใหม่ ที่รวดเร็วทันใจกว่าเดิม ซึ่งจะจอดเรือทั้งหมด 4 ท่าเรือ เริ่มจากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี - ท่าเรือเทเวศน์ - ท่าเรือวังหลัง, ศิริราช หรือ พรานนก - ท่าเรือสาทร โดยจะให้บริการประชาชนวันละ 3 เที่ยว เฉพาะช่วงเช้าเ่ท่านั้น วันจันทร์ ถึง ศุกร์ ทั้งนี้ราคาจะอยู่ที่ 30 บาท ( เค้าบอกว่าเพียง 30 บาท เท่าั้นั้น ) ซึ่งจะแพงกว่าเรือด่วนพิเศษธงเหลืองนิดหน่อย ราวๆ 5-10 บาท นั่นไม่ได้หมายความว่าจะแพงอะไรมากมายหรอกจ้า ถ้าใครชอบแบบเร่งด่วนก็ถือว่าคุ้มนะจ๊ะ หรือใครที่ชอบนั่งเรือยาวๆทีเดียวเลยจาก ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี ไปท่าเรือสาทร ซึ่งใช้เวลาในการเดินทาง ไม่เกิน  30 นาที  ซึ่งปรกติถ้าเดินทางกับเรือด่วนพิเศษธงเหลืองจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 - 50 นาที 


รวดเร็วทันใจกว่าเดิม จอด 4 ท่า เรือด่วนพิเศษธงแดง
บริการใหม่ เรือด่วนพิเศษธงแดง


ติดตั้งธงแดงประจำท่าเรือ เทเวศน์
ติดตั้งธงแดงประจำโป๊ะเรือ /  ท่าเรือ เทเวศน์
         จากรูปแสดงการติดตั้งธงสีแดง ประจำโป๊ะ หรือ ท่าเรือ เทเวศน์ ซึ่งก็จะบ่งบอกว่า ที่ท่าเรือเทเวศน์นี้ จะมีเรือด่วนพิเศษธงแดง มาจอดเทียบท่าด้วยนะจ๊ะ สามารถใช้บริการเรือธงแดงได้น๊ะ
 


เรือด่วนธงแดงผ่านท่าเรือปิ่นเกล้า
เรือด่วนพิเศษธงแดง

 
         โดยเรือด่วนธงแดงนี้จะเริ่มให้ประชาชนหรือผู้ที่ชอบสัญจรทางน้ำได้เริ่มใช้บริการในวัน อังคาร ที่ 14 สิงหาคม 2555 นี้จ้า ลองไปนั่งกันดูนะจ๊ะ ว่าโอมั้ย คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปมั้ย เดี๋ยวว่างๆ ผู้เขียนเองจะลองนั่งดูมั้งจ้า แล้วจะมาเล่าให้ฟังนะจ๊ะ ว่าเป็นยังไงบ้าง

อัพเดทเวลาใหม่ของเรือธงแดงมาแล้วจ้า




โดยเรือด่วนพิเศษธงแดงปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการใหม่ ดังนี้



เที่ยวแรกจากเดิม เวลา 07.00 น. เป็น 07.10 น.
เที่ยวแรกจากเดิม เวลา 07.10 น. เป็น 07.20 น. 
เที่ยวแรกจากเดิม เวลา 07.20 น. เป็น 07.30 น.

โดยเริ่มวิ่งเวลาใหม่ วันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2555 ที่ผ่านมาจ้า ส่วนราคายังคงเดิมนะจ๊ะ  


รออัพเดท ข่าวสาร จาก express boat นะจ๊ะ จะมารายงานให้ผู้อ่านได้ติดตามกัน

ขอขอบคุณ บ.เรือด่วนฯ

เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat

      
เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat 



บทความนี้จะนำเสนอการเดินทางโดยทางน้ำ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat จากเหตุผลที่นำเสนอ บทความนี้อันเนื่องมาจากผู้เขียนเองได้ไปสัมผัสสิ่งต่างๆเกี่ยวกับเรือด่วนเจ้าพระยา แทบทุกวันไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อไปทำงานในตอนเช้า และ ขากลับช่วงยามเลิกงาน แวะไปซื้อสินค้าประเภทงานไม้ พวกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆย่านบางโพ เดินทางไปเที่ยวสถานที่ต่างๆบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงอยากมาประชาสัมพันธ์และบอกต่อกันในการเดินทางด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะนอกจากจะสะดวกสบายในการเดินทาง และบรรยากาศดีแล้ว ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องรถติด เพราะเรือยังไงก็ไม่ติดเหมือนรถหรอกน๊ะ(อันนี้ผู้เขียนมั่นใจ ถ้าไม่เจอเรือที่เสียซะก่อน..... ว่าไปนั่น) ช่วยให้เราไม่หงุดหงิด ไม่เครียดในการเดินทาง ถ้าเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ และอ้ออีกอย่างนึง ถือว่าตัวเราช่วยลดปัญหาจราจรไปด้วยในตัว เงินในกระเป๋าก็เหลืออีก ไม่ต้องขับรถไปทำงานเพื่อจ่ายค่าน้ำมันที่แสนจะแพ๊งแพง(ณ ปัจจุบัน 2012 จริงมั้ยจ๊ะ)






       จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ยังมีอีกหลายๆคนที่ยังไม่เคยนั่งเรือ ไม่รู้จะซื้อตั๋วยังไง โดยสารเรือลำไหน เห็นมีเรือมีตั้งหลายแบบ เดี๋ยวก็มีธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว เรือลำเล็ก เรือลำใหญ่ และนั่งเรือแล้วจะไปขึ้นเรือ(หมายถึงออกจากเรือ)ที่ท่าไหน แล้วจะจอดที่ท่าไหนบ้าง ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ ผู้เขียนจะเจอแทบทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารชาวต่างประเทศหรือแม้แต่คนไทยเองก็จะงงๆกับการนั่งเรือ 
       หลายๆครั้งผู้เขียนก็จะได้ยิน ผู้โดยสารจะมาถามเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า(ใส่ชุดฟอร์มสีขาว คล้ายๆพนักงานขับรถเมลของ ขสมก. เป๊ะเลย) ซึ่งจะอยู่ประจำโป๊ะเรือแต่ละโป๊ะ(เป็นส่วนใหญ่) 

ผู้โดยสาร: โทษนะค่ะ เรือลำไหนจอดท่าเขียวไข่กา ( เป็นท่าเรือที่กำแพง รร. ราชินิบน แตกตอนน้ำท่วมแหละจ้า ) บ้าง?
กรมเจ้าท่า: ตอบด้วยความมั่นใจว่า... อ๋อ ต้องไปเรือประจำทางเท่านั้นครับ 

แล้วผู้โดยสารก็จะทำหน้าตา งงๆ ว่า เอ๋? เรือประจำทางหน้าตาเป็นจั๋งใดหนอ??? เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ผู้ใจดีก็จะอธิบายให้ฟังต่อ 

กรมเจ้าท่า: เป็นเรือที่ไม่มีธงครับ เดี๋ยวถ้าเรือมาผมจะบอกให้ครับ
ผู้โดยสาร: เอ๋??? อีกครั้งนึง
กรมเจ้าท่า: งั้น เดี๋ยวถ้าเรือมาผมจะบอกให้ครับ
ผู้โดยสาร: เฮ้อ ค่อยโล่ง….อกหน่อย(ซะที)

          ถ้าคนเคยนั่งเรือมาบ้างก็พอจะรู้บ้าง แต่นี่ไม่เคยนั่งเลยหรือนั่งมานานแล้ว จำไม่ได้แล้ว เอ๋??? จะว่าไปแล้ว  น๊ะเหมือนผู้เขียนตอนแรกๆเลยเชียวแหละ อิอิ

สรุป แล้วถ้าวันนั้น หากผู้โดยสารท่านนั้นรอนั่งเรือที่ไม่มีธง คงจะไม่ได้ไปไหนเป็นแน่แท้ เพราะเรือทุกลำ มีธงทุกลำเลย เรือบางลำมีมากกว่า 2 ธงอีกแนะ !!! ไม่แปลกหรอก แบบฮาฮาๆจ้า ผู้เขียนเองก็แอบยิ้มประจำกับคำถามและคำตอบแบบนี้



จึงเป็นตัวอย่างที่มาของการแนะนำและประชาสัมพันธ์การโดยสารด้วยเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เคยนั่งเรือหรือนานๆนั่งสักที จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น เกริ่นมาซะยาวเลย คงต้องเข้าเรื่องกันแล้วแหละจ้า เดี๋ยวผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน
ก่อนอื่นต้องออกตัวนิสสสนึงน๊ะ ส่วนมากพักหลังๆมานี้ตัวผู้เขียนเองจะโดยสารเรือประจำทางค่อนข้างบ่อยหรือที่เค้าเรียกกันว่า  “เรือไม่มีธง นั่นแหละ เป๊ะ...)  นานๆจะได้มีโอกาสได้โดยสารเรือด่วน ธงส้ม ธงเหลือง และธงเขียวบ้าง บางครั้งบางคราวมาไม่ทันเรือประจำทาง (มาช้าเลย ตกเรือ) ต้องอาศัยการนั่งเรือต่อเรือ (ยังไม่ต้อง งง กันหรอกจ้า แล้วจะมาเล่าให้ฟังในคราวหลังน๊ะ)

ณ ปัจจุบันนี้ ถ้านับเฉพาะเรือที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ถ้าไม่นับเรือเจ้าพระยาแบบอื่นๆ เรือนักท่องเที่ยว นำเที่ยวในเทศกาล หรือวันหยุด ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีเรือโดยสาร เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat ทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน คือ 1. เรือโดยสารประจำทาง ( เรือไม่มีธง ) 2. เรือด่วนพิเศษธงส้ม 3. เรือด่วนพิเศษธงเหลือง และ 4. เรือด่วนพิเศษธงเขียว

1.เรือโดยสารประจำทาง(อั้ยย่ะชอบพูดกันจริงๆ เรือไม่มีธง)

          มาดูรูปร่างและหน้าตาของเรือประจำทางกันซะหน่อย จะเห็นได้ว่าเรือประจำทางก็มีธงนะ ตั้ง 2 ธงเชียวแนะ !!! เรือประเภทนี้จะเป็นเรือชั้นเดียว มีขนาดเล็กกว่าเรือด่วนธงสีอื่นๆ มีที่นั่งประมาณ 60 ที่นั่ง ( ที่เหลือก็เป็นที่ยืน ด้านข้างสำหรับที่ยืนพิงหลัง นั่งบนขอบไม้ที่ครอบเครื่องยนต์ หรือข้างๆคนขับ อันนี้แล้วแต่สะดวกนะจ๊ะ ขอแค่ไม่เกะกะทางเดินก็พอจ้า )



เส้นทาง จาก ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรีวัดราชสิงขร
วันบริการ ตั้งแต่วันจันทร์ ศุกร์ (วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หยุดด้วยนะ)
เวลาบริการ  

  • ช่วงเช้าจะมี 3 เที่ยว(เที่ยวแรก 06.45. , 07.10. และ 07.30.)  
  • ส่วนช่วงเย็นจะเหลือ 2 เที่ยว 16.00 . และ 16.30 .
  • ช่วงกลางวันหรือเวลาอื่นๆนอกเหนือจากนี้ ไม่มีแล่นนะจ๊ะ
     วิ่งเรือเฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์ เท่านั้น หากวันจันทร์ - ศุกร์ตรงกับวันหยุดก็ไม่มีวิ่งเรือหรอกนะจ๊ะ(เดี๋ยวจะรอเรือกันเก้อซะก่อน)
อัตราค่าโดยสาร 10บาท / 12 บาท และ 14 บาท คิดตามระยะทางสูงสุด 14 บาท
ท่าที่จอด จอดเทียบทุกท่าเรือ(ท่าเล็กๆ ไปต้นไป เรียกได้ว่าเก็บกันทุกป้าย) รวม 34 ท่าเรือ


2.เรือด่วนพิเศษธงส้ม
มาดูหน้าตาของเรือด่วนพิเศษธงส้มกันบ้าง มองผิวเผินจะคล้ายๆกับเรือประจำทาง แต่จะมีธงสีส้มอยู่ข้างบนส่วนกลางค่อนไปด้านหน้าและส่วนท้ายของเรือ(บางลำก็จะมีธงส้มแค่อันเดียว ไม่รู้ว่าอีกอันหนึ่งหายไปไหน) เรือประเภทนี้จะเป็นเรือชั้นเดียว มีขนาดกลางๆ ใหญ่กว่าเรือประจำทางเล็กน้อย มีที่นั่งประมาณ 90 ที่นั่ง(ที่เหลือก็เป็นที่ยืนนะจ๊ะ)



เส้นทาง จากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรีวัดราชสิงขร
วันบริการ ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ อาทิตย์, วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุด ไม่หยุดแล่นนะจ๊ะ
เวลาบริการ 06.00. – 19.00.
อัตราค่าโดยสาร เหมาจ่าย 15 บาท ราคาเดียวตลอดสายจ้า
ท่าที่จอด จอดเทียบท่าขนาดกลางขึ้นไป รวม 20 ท่าเรือ

คำถาม : เรือด่วนเจ้าพระยาวันหยุด, เรือด่วนเจ้าพระยา วันเสาร์ วันอาทิตย์ มีแล่นหรือวิ่งมั้ย?
คำตอบ : บริการเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาธงส้ม ไม่หยุดจ้า แล่นหรือวิ่งทุกๆวัน แต่ระยะ
              เวลาในการรอเรือด่วน อาจนานขึ้นกว่าวันปรกตินะจ๊ะ

3.เรือด่วนพิเศษธงเหลือง
คราวนี้มาดูหน้าตาของเรือด่วนพิเศษธงเหลืองกันบ้าง เรือธงเหลืองจะมี 2 ขนาด เรือขนาดใหญ่ใช้แล่นรับ- ส่งผู้โดยสารในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น เพราะเป็นเวลาเร่งด่วน สามารถจุผู้โดยสารได้เยอะ ส่วนอีกแบบหนึ่งก็จะเป็นเรือธงสีส้มนั่นแหละจ้า เปลี่ยนธงใหม่จากสีส้มเป็นสีเหลืองแทน วิ่งเหมือนธงเหลืองลำใหญ่ ( อันนี้ ไม่ใช่ว่าใครจะได้ขับเรือด่วนพิเศษธงเหลืองกันง่ายๆนะจ๊ะ เค้ามีลำดับขั้นตอน กว่าจะเลื่อนขั้นกัน ต้องอาศัยประวัติ ฝีมือและความชำนาญของแต่ละบุคคล ต้องอาศัยเวลาจ้า ) ซึ่งธงเหลืองก็จะติดตั้งอยู่ที่ข้างบนส่วนกลางค่อนไปด้านหน้าและส่วนท้ายของเรือเช่นกัน) เรือด่วนพิเศษธงเหลืองลำใหญ่จะเป็นเรือโดยสารชั้นเดียว ( ไม่นับคนขับนะ ) มีขนาด มีที่นั่งประมาณ 150 ที่นั่ง สำหรับคนขับจะอยู่ชั้นบนด้านหน้า เหนือผู้โดยสาร  ส่วนเรือด่วนพิเศษธงเหลืองลำเล็กจะเป็นเรือชั้นเดียว มีขนาด มีที่นั่งประมาณ 90 ที่นั่ง ( ที่เหลือก็เป็นที่ยืน เหมือนเคย )



เส้นทาง จากท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรีสาทร - ราษฎร์บูรณะ
วันบริการ ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ ศุกร์ ส่วนวันเสาร์ ช่วงเช้าไม่เกิน 08.00.
เวลาบริการ ช่วงเช้า 06.15. – 08.30 . และ ช่วงเย็น 15.30 . – 20.00.
อัตราค่าโดยสาร  20 บาท / 29 บาท
ท่าที่จอด จอดเทียบท่าขนาดใหญ่เท่านั้น รวม 9 ท่าเรือ

คำถาม : เรือด่วนเจ้าพระยาวันเสาร์ มีแล่นหรือวิ่งมั้ย?
คำตอบ : บริการเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาธงเหลืองนอกจากวันธรรมดาแล้ว ในวันเสาร์ก็จะมีแล่นด้วย แต่จะมีเฉพาะช่วงเช้าของวันเสาร์ ไม่เกิน 8 โมงเช้านะจ๊ะ ( อันนี้เค้าบริการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ยังคงทำงานในวันเสาร์ด้วย )

4.เรือด่วนพิเศษธงเขียว
เรือด่วนพิเศษธงเขียว จะแล่นรับ-ส่งผู้โดยสารคล้ายๆ กับเรือด่วนพิเศษธงเหลือง จะแตกต่างกันในบางท่าเรือ และเพิ่มจำนวนท่าเรือ จากท่าน้ำนนท์ฯ ไปยังเกาะเกร็ด ซึ่งการติดตั้งธงเขียวก็จะเหมือนกับธงสีอื่นๆ เรือด่วนพิเศษธงเขียวจะเป็นเรือชั้นเดียว มีขนาด ใกล้เคียงกับเรือด่วนพิเศษธงส้ม แต่จะมีลักษณะรูปทรงที่สูงกว่า มีที่นั่งประมาณ 90 ที่นั่ง



เส้นทาง จาก ปากเกร็ด - ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรีสาทร
วันบริการ ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ ศุกร์
เวลาบริการ ช่วงเช้า 06.15. – 08.10 . และ ช่วงเย็น 15.30 . – 18.05.
อัตราค่าโดยสาร 13 บาท / 20 บาท / 32 บาท
     ท่าที่จอด จอดเทียบท่าขนาดใหญ่ขึ้นไป รวม 12 ท่าเรือ

   
    บทความนี้เราก็ได้รู้จักเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละประเภทไปกันแล้ว เดี๋ยวคราวหน้าจะพามาดู เส้นทาง หรือ แผนที่เดินเรือของ เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละประเภทว่าจอดท่าไหนบ้าง จะได้นั่งเรือกันไม่ผิดลำไงจ๊ะ



ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก เรือด่วนเจ้าพระยาและวิถีพีเดีย จ้า

แผนที่ เส้นทางเดินเรือด่วนแห่งแม่้ำน้ำเจ้าพระยา


จากบทความที่แล้ว ได้แนะนำเรือด่วนแต่ละประเภทไปแล้ว คราวนี้เรามาดูแผนที่ หรือเส้นทาง ของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ละประเภทกันต่อ จะได้เข้าใจว่าเรือแต่ละประเภทจอดท่าไหนบ้าง เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจในการดูแผนที่ของเรือด่วนแต่ละประเภท ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ โดยแยกแผนที่ของเรือแต่ละประเภทออกจากกัน ทั้งนี้เหตุและผลที่จัดทำขึ้นมาใหม่ก็เพราะว่า ผู้เขียนเองก็มักจะได้ยินผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือโดยสารกับเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ค่อยบ่อย แบบนานๆที ดูแผนที่เดินเรือแล้ว มักไม่ค่อยเข้าใจ บางคนจะเข้าใจไปเองแล้วพูดว่า เรือประจำทางหรือเรือไม่มีธงนั้นจะแล่นข้างซ้ายตลอด หรือบางทีก็จะเข้าใจว่า แล่นข้างใดข้างหนึ่งตลอด ส่วนเรือด่วนพิเศษธงส้มและเหลืองนั้น จะแล่นตรงกลางและข้างขวาตลอดบ้าง จึงต้องการเล่าสู่กันฟัง ว่า จริงๆแล้ว เรือแต่ละประเภทไม่ได้แล่นและจอดข้างใดข้างหนึ่งตลอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าเรือของแต่ละท่าเรือ ว่าอยู่ทางด้านไหน แล้วแล่นถึงท่าไหนก่อน ท่าเล็กหรือท่าเรือขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ซึ่งจะแยกตามประเภทของเรือนั่นเอง

มาเริ่มกันที่เรือโดยสารประจำทางหรือเรือไม่มีธงนั้น จะจอดทุกท่าเรือก็ว่าได้ สังเกตุได้จากแผนที่ จะแล่นไปมาทั้งซ้ายและขวา ท่าเรือไหนถึงก่อน ก็จะแล่นไปข้างนั้นก่อน จำนวนท่าเรือประจำทางที่จอดทั้งหมด 34 ท่าเรือ ดูได้จากแผนที่นะจ๊ะ รูปดาวนั้นหมายถึงท่าเรือที่จอดจ้า
แผนที่ เรือไม่มีธง
แผนที่ เดินเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรือประจำทาง


ส่วนเรือด่วนพิเศษธงส้มจะแล่นแล้วจอดเฉพาะท่าขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งจำนวนการจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่ท่าเรือ จะน้อยกว่าเรือประจำทาง จำนวนท่าเรือธงส้มที่จอดทั้งหมด 20 ท่าเรือ(เอ๋? ทำไมถึงนับจากแผนที่แล้วจอดเกิน 20 ท่าล่ะ.....อันนี้มีคำตอบจ้า แล้วจะมาเล่าให้ฟังทีหลังจ้า) ดูแผนที่ข้างล่างประกอบด้วยน๊ะ ข้อแตกต่าง ของเรือประจำทางและเรือธงส้มนั้น ตรงสะพานพระราม 5 จะจอดเทียบท่าคนละฝั่งกัน กล่าวคือ เรือประจำทางจะจอดเทียบท่าฝั่งตัวอำเภอจังหวัดนนทบุรี(ฝั่งตลาดนนท์ หรือฝั่งถนนพิบูลสงคราม หรือบางคนอาจพูดว่าฝั่งหอนาฬิกา จ.นนทบุรี อันนี้ก็แล้วแต่นะจ๊ะ) ส่วนเรือธงส้มจะจอดเทียบท่าฝั่ง ถนน นครอินทร์ (บางคนอาจเรียกว่าฝั่งวัดสังฆทาน หรือฝั่งวงเวียนพระราม 5 ก็แล้วแต่) ที่เน้นแบบนี้ เนื่องจากถ้านั่งเรือประจำทาง หรือธงส้มนั้น ถ้าจะลงฝั่งไหนควรเลือกใช้บริการ เลือกนั่งเรือให้ถูกธง เพราะว่าหากผิดฝั่งล่ะก็ แล้วจะลำบากต้องต่อรถ(สองแถวหรือ รถเมลสาย 1024 ทั้งสองแบบราคา 8 บาทจ้า)ข้ามสะพานเพื่อข้ามฝั่งกันอีก เนื่องจากแถวๆสะพานพระราม 5 ไม่มีเรือข้ามฝากนะจ๊ะ
แผนที่ เรือธงส้ม
แผนที่ เดินเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ธงส้ม


ส่วนเรือด่วนพิเศษธงเหลืองจะแล่นแล้วจอดเฉพาะท่าขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งจำนวนการจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่ท่าเรือ จะน้อยกว่าเรือด่วนพิเศษธงส้ม จำนวนท่าเรือธงเหลืองที่จอดทั้งหมด 9 ท่าเรือจ้า ดังแผนที่ข้างล่าง
แผนที่ เรือธงเหลือง
แผนที่ เดินเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ธงเหลือง


และสุดท้ายเรือด่วนพิเศษธงเขียวจะแล่นแล้วจอดเฉพาะท่าขนาดใหญ่เท่านั้น จะคล้ายกับเรือด่วนพิเศษธงเหลือง แต่จะเพิ่มท่าเรือจากท่าน้ำนนท์ฯไปยังปากเกร็ด และการจอดจะต่างจากเรือด่วนพิเศษธงเหลือง ตรงที่จอดที่ท่าเรือสะพานกรุงธนหรือซังฮี้ ส่วนท่าเรือบางโพจะไม่จอดรับ-ส่ง (ตั้งแต่ปิดชั่วคราวท่าเรือบางโพ ธงเขียวเค้าก็มาจอดเทียบท่า ที่ท่าเกียกกาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารเรือ อย่างเราๆไงจ๊ะ) จำนวนท่าเรือธงเขียวที่จอดทั้งหมด 12 ท่าเรือนะจ๊ะ 
แผนที่ เรือธงเขียว
แผนที่ เดินเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ธงเขียว
 
          จากบทความนี้ทางผู้เขียนหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่ไม่ค่อยชำนาญในการนั่งเรือ ได้เข้าใจยิ่งขึ้น และรู้ว่าเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ละประเภทจอดท่าไหนบ้าง คำถามที่ว่า เรือด่วนธงเหลืองจอดท่าไหนบ้าง? คงจะไม่มีหรือมีน้อยลงนะจ๊ะ ในบทความต่อไป เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Express Boat Chaophraya จะมาอัพเดทเรื่องดีๆของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องไหน มาติดตามกันต่อนะจ๊ะ

         เพิ่มเติมเรื่องการนั่งเรือด่วนตรงสะพานพระราม 7 เรือด่วนต่างๆที่จอดเทียบท่าที่นี่ จะจอดตรงฝั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือฝั่งวัดวิมุตยาราม หรือเรียกง่ายๆว่าฝั่ง ถนนจรัญสนิทวงศ์ รพ.ยันฮี นั่นแหละจ้า ไม่ใช่ฝั่ง ถนนพิบูลย์สงครามนะจ๊ะ(ถนนเส้นพิบูลย์ฯ จะผ่านหน้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ มจพ.) หากจะขึ้น-ลงเรือฝั่งถนนพิบูลย์ฯ แล้วละก็ให้ไปใช้ที่ท่าเรือวัดสร้อยทอง นะจ๊ะ


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากเรือด่วน

ยกเลิกท่าเรือวังหลัง(ด้านใต้สุด)

ประกาศนะจ๊ะ อัพเดทข่าวสารจากเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาจ้า        

         ยกเลิกท่าวังหลัง(ด้านใต้สุด) เนื่องจากทางทางกรมเจ้าท่ากำลังดำเนินการซ่อมโป๊ะ และให้ใช้ท่าเรือศิริราช หรือ พรานนกชั่วคราว(ด้านเหนือสุด)แทน

        อันนี้ไม่ต้อง งง หรือ ตกใจกันหรอกจ้า เพราะว่าท่าเรือทั้งหมดที่ประกาศมานี้ ได้แก่ ท่าเรือวังหลัง ท่าเรือศิริราช ท่าเรือพรานนก นั้นอยู่บริเวณที่เดียวกันหมดจ้า เพียงแค่บริเวณนั้นจะมีโป๊ะ 3 โป๊ะ นั่นเอง กล่าวคือ ท่าเรือ หรือ โป๊ะ ด้านใต้สุด ( ปรกติจะเป็นท่าเทียบจอดเรือของเรือด่วนที่จะเดินทางไป สาทร ) จะเรียกว่า ท่าเรือวังหลัง ส่วนท่าเรือ หรือ โป๊ะ ด้านเหนือสุด ( ปรกติจะเป็นท่าเทียบจอดเรือของเรือด่วนที่จะเดินทางไป ท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี ) จะเรียกว่า ท่าเรือพรานนก และ ท่าเรือ หรือ โป๊ะตรงกลางจะเรียกว่า ท่าศิริราช ซึ่งท่าเรือศิริราชนี้จะใช้สำหรับจอดเทียบท่าของเรือข้ามฝากนั่นเองจ้า

จะได้ไม่ไปเรือรอที่โป๊ะกันผิดไงจ๊ะ เดี๋ยวถ้าเรือด่วนมาแล้วจะวิ่งไปโป๊ะไม่ทันนะจ๊ะ



เดี๋ยวยังไงถ้ามีข่าวสารเพิ่มเติม

Express Boat

จะมารายงานให้ทราบกันนะจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สงสัยมั้ย เรือด่วนธงส้มจอดกี่ท่ากันแน่?


จำนวนการจอดเทียบท่าของเรือด่วนพิเศษธงส้ม


ท่านผู้โดยสารเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาโปรดทราบ...ฮั่นแนะ เหมือนฝ่ายประชาสัมพันธ์ยังไงอย่างงั้นเลย หลังจากที่เราได้รู้ถึงประเภทของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา, แผนที่เส้นทางเดินเรือ, ประเภทของตั๋วเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา และ การดูธงประจำโป๊ะเรือ ไปแล้ว วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าถึงว่าทำไมหากดูจากแผนที่แล้ว จำนวนของท่าจอดเทียบของเรือด่วนพิศษธงส้ม ตกลงแล้ว จริงๆ เป็นเท่าไหร่กันนั่น 20 หรือ 21 ท่าเรือ อันนี้มีที่มาที่ไป ซึ่งกรณีนี้หลายๆคนอาจจะยังไม่เข้าใจ เอ๋???

หากเรือประจำทางไม่แล่น เรือด่วนพิเศษธงส้ม จะจอดโป๊ะท่าวัดเขียนเพิ่ม
ท่าเรือวัดเขียนที่จอดเพิ่ม ของเรือด่วนธงส้ม

สืบเนื่องมาจากบทความ แผนที่ เส้นทางเดินเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังติดค้างผู้อ่านอยู่เรื่องนึง วันนี้จะมาขยายความให้ทราบจ้า จากที่เคยเขียนลงไปว่าเรือด่วนพิเศษธงส้ม จำนวนท่าที่จอดเทียบเรือ 20 ท่าเรือ และหากมาดูในแผนที่เส้นทางเรือด่วน แล้ว เราจะนับได้ 21 ท่าเรือ ทำไมเป็นอย่างงั้นล่ะ สงสัยผู้เขียนจะมั่วตัวเลขมาหรือป่าว? เอ๋...ใจเย็นๆจ้า ทั้งนี้มาสาเหตุมาจากการแล่นเรือของเรือประจำทางนั่นเองจ้า และท่าเรือที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คือ ท่าวัดเขียนนั่นเอง หากวันไหนตรงกับวันหยุด หรือเวลาไหนที่ไม่มีเรือประจำทางแล่น(อันนี้หมายรวม ถึง เรือประจำทางหมดไปแล้ว หรือยังยังแล่นนำหน้าเรือด่วนพิเศษธงส้มอยู่

Chaophraya Express Boat ท่าวัดเขียน
ท่าเรือวัดเขียน

พูดง่ายๆก้อคือ เรือด่วนธงส้มตามหลังเรือประจำทางมา แล้วเรามาไม่ทันลง(เข้ามาข้างใน)เรือประจำทาง ต้องมานั่งเรือพิเศษธงส้มแทน นั่นเอง ) แบบนี้เราสามารถขึ้น(ออกจาก)เรือด่วนพิเศษธงส้มที่ท่าเรือวัดเขียนได้ หากเรือด่วนพิเศษธงส้มจอดที่วัดเขียนก็จะนับได้ 21 ท่าเรือ และหากไม่ได้จอดท่าวัดเขียนก็จะเหลือ 20 ท่าเรือนั่นเองจ้า
โป๊ะเรือท่าวัดเขียน
ขณะยืนรอเรือที่วัดเขียน

สรปได้ว่า ในวันหยุด หรือ เวลาอื่นๆ ที่เรือประจำทางไม่ได้แล่นแล้ว เรือด่วนพิเศษธงส้มก็จะจอดเทียบท่าเรือวัดเขียนด้วยนั่นเอง
         และอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่าเรือวัดเขียนแห่งนี้จะเป็นบ้านหรือที่พักอาศัยของคนขับเรือและพนักงานของเรือด่วนแห่งแ่ม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะมีเรือประเภทต่างๆจะมาจอดอยู่บริเวณใกล้ๆกับโป๊ะเรือวัดเขียนแห่งนี้กันจำนวนหลายๆลำ ดังภาพข้างล่างจ้า

วัดเขียน ที่จอดพักของเรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาประเภทต่างๆ และบ้านพัก ที่อยู่อาศัยของคนขับเรือ หรือ พนักงานเรือด่วน
การจอดพักของเรือประเภทต่างๆ เช่น ธงส้มและเหลือง ที่ท่าเรือวัดเขียน


หมายเหตุ

หากใครสนใจไปเที่ยวและกราบไหว้พระที่วัดเขียนนะจ๊ะ
ท่องเที่ยวบริเวณวัดเขียน
รูปภาพบริเวณวัดเขียน
วัดเขียน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๐ ม.๒ ต.บางไผ่ อ.เมือง นนทบุรี พระอุโบสถเก่า พ.ศ.๒๓๒๕ พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๕ เมตร สร้าเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ เดิมเป็นท่าเทียบเรือสำเภาพ่อค้าจีน จนมีพ่อค้าชาวจีนชื่อ นายเคี้ยง ได้รวบรวมเงินและแรงงานสร้างวัดใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ชื่อ “วัดเคี้ยง” ต่อมาชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น “วัดเขียน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ เจ้าอาวาส พระปลัดจุลภัค เขมวิโร(รักไทย เจริญชิพ) อุปสมบทเมื่อ ๑๖ ก.ค. ๒๕๓๑


ขอขอบคุณข้อมูลวัดเขียนจาก ธรรมจักร

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ท่าเรือที่เรายืนอยู่ เรือธงอะไรจะมาจอดเทียบบ้าง


จะรู้ได้อย่างไร ท่าเรือที่เรายืนอยู่ เรือธงอะไรจะมาจอดเทียบบ้าง

มีคำถามอีกอย่างหนึ่งที่ตัวผู้เขียนได้ยินเป็นประจำๆ ท่านี้(ท่าเรือที่เรายืนอยู่ตรงนี้) มีเรือธงสีเหลืองจอดมั้ยค่ะ/ครับ ? อันนี้ต้องถามผู้รู้ หรือคนคุ้นเคย เช่นพนักงานของกรมเจ้าท่า หรือผู้ที่นั่งเรือประจำ บ่อยๆ ว่าท่าเรือตรงนี้มีเรือธงสีอะไรบ้างที่เข้ามาจอดเทียบ
แต่อย่างไรก็ตามแต่ก็ยังมี เกร็ดความรู้ดีๆอย่างนึงที่ผู้เขียนอยากฝากบอกต่อๆกันไป ว่า เอ๋?? เราจะสามารถรู้ได้อย่างไร อันนี้ไม่ยากเลยจ๊ะ ให้เราแหงนมองขึ้นสูงไปอีกนิด บริเวณเกือบๆหัวเสาของโป๊ะเรือแต่ละโป๊ะ จะมีที่ให้เสียบธงอยู่ คราวนี้ถึงบางอ้อ ร้องอ๋อ ได้แล้วสิน๊ะ ตรงบริเวณหัวเสาอาจอยู่ข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ อันนี้แล้วแต่ว่าเค้าจะเอาธงเสียบไว้ตรงข้างไหน แต่ไม่เป็นไร ยังไงไม่ซ้ายก็ขวาแหละจ้า ต้องเจอสักอันนึงน่า….
โป๊ะเรือกับสีธงประจำโป๊ะ
ธงประจำโป๊ะเรือ
 ที่หัวเสาของโป๊ะเรือ หากท่าเรือหรือโป๊ะเรือนั้นมีเรือด่วนพิเศษธงส้มมาจอดก็จะมีธงสีส้มเสียบอยู่ข้างบนเสาโป๊ะ และหากท่าเรือไหนมีเรือธงเหลืองมาจอดก็จะมีธงสีเหลืองเสียบอยู่ด้วย นั่นหมายถึง มีธงจำนวน 2 ธงแล้ว(ธงส้มและธงเหลือง)ที่เสียบหัวเสาของโป๊ะเรือ และในทางเดียวกัน หากท่าเรือหรือโป๊ะเรือนั้นๆมีธงทั้งสีส้ม ธงเหลือง และธงเขียวเสียบอยู่ นั่นแสดงว่า จะมีทั้งเรือด่วนพิเศษธงส้ม ธงเหลือง และธงเขียวมาจอดนั่นเอง
แต่ถ้าเป็นท่าเรือหรือโป๊ะเรือ ของเรือประจำทางล่ะ จะเป็นยังไง อันนี้จะไม่มีธงของเรือประจำทางหรอกจ๊ะ ชื่อเค้าก็บอกแล้วว่า เรือไม่มีธง นั่นสินะ สรุปสั้นๆและง่ายๆได้ว่า โป๊ะที่มีเรือประจำทางมาจอดนั้นจะไม่มีธงสีใดๆมาเสียบที่หัวโป๊ะเลย เว้นแต่จะมีธงชาติหรือ ธงสีเหลือง ตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มาติดไว้แทน(ลักษณะเหมือนกับที่ติดไว้ที่ส่วนหัวด้านบนของเรือด่วนแต่ละลำนั่นเอง)

ให้เข้าใจไว้ว่า หากโป๊ะเรือไหนมีธงสีส้ม ธงสีเหลือง ธงสีเขียว เสียบที่หัวเสาของโป๊ะ นั่นหมายถึง จะมีทั้งเรือประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง เรือด่วนพิเศษธงเขียวเข้ามาจอด
ท่าเรือ / โป๊ะเรือไหนมีธงสีส้ม ธงสีเหลือง เสียบที่หัวเสาของโป๊ะ นั่นหมายถึง จะมีทั้งเรือประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง เข้ามาจอด
ท่าเรือ / โป๊ะเรือไหนมีธงสีส้ม ธงสีเขียว เสียบที่หัวเสาของโป๊ะ นั่นหมายถึง จะมีทั้งเรือประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเขียวเข้ามาจอด
ท่าเรือ / โป๊ะเรือไหนมีธงสีส้ม เสียบที่หัวเสาของโป๊ะ นั่นหมายถึง จะมีทั้งเรือประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เข้ามาจอด
ท่าเรือ / โป๊ะเรือไหนไม่มีธงใดๆ เสียบที่หัวเสาของโป๊ะ นั่นหมายถึง จะมีแค่เรือประจำทางเท่านั้นที่เข้ามาจอด นั่นหมายถึงจอดเฉพาะโป๊ะเรือ ที่ทางกรมเจ้าท่าเค้าติดป้ายบอกชื่อไว้นะจ๊ะ เพราะยังมีโป๊ะส่วนบุคคล หรือโป๊ะเรืออื่นๆอีกหลายโป๊ะ เดี๋ยวจะเหมารวมหมด แล้วจะยุ่งเหยิงไปกันใหญ่นะจ๊ะ

หมายเหตุ โป๊ะเรือบางแห่งอาจจะไม่มีธง หรือมีธงไม่ครบหรือไม่ได้ติดตั้งธงเลย อาจมาจากสาเหตุหลายๆประการ เช่น ธงอาจขาด แหว่ง เก่าขึ้นรา หรือถูกลมพัด ตกน้ำ หายไป ทำให้วิธีดูธงประจำโป๊ะแบบนี้อาจจะใช้การไม่ได้นะจ๊ะ
 
          บทความนี้พอเข้าใจถึงการดูธงที่โป๊ะเรือหรือท่าเรือ ของเรือแต่ละประเภทที่เข้ามาจอดเทียบที่ท่าเรือกันแล้ว บทความต่อไปจะมีเรื่องดีๆเรื่องไหนจาก เรือด่วนแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา Chaophraya Express Boat มานำเสนอกันอีก ติดตามกันต่อนะจ๊ะ